...

พระสาวกนั่งพนมมือ

          พระสาวกนั่งพนมมือ

          ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

          ได้มาจากวัดศรีโขง ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔-๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          หินผลึกใสสลักรูปพระสาวกในท่าอัญชลี (พนมมือ) นั่งขัดสมาธิราบ ศีรษะเรียบ ใบหน้ากลม คิ้วโก่ง หลับตา ปลายหางตาตวัดเล็กน้อย บริเวณคอมีรอยแตกชำรุด ครองจีวรห่มเฉียง มือทั้งสองข้างยกขึ้นมาในท่าอัญชลี

          พระสาวก หมายถึง ศิษย์ของศาสดา* รูปประติมากรรมพระสาวกจะแตกต่างจากพระพุทธรูปชัดเจน คือ ไม่ปรากฏอุษณีษะบนศีรษะ อันเป็นหนึ่งในลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของพระพุทธเจ้า รวมทั้งหากเป็นพระพุทธรูปจะไม่แสดงท่าอัญชลี (การพนมมือ) เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงมีสถานะสูงสุดในโลกนี้

          การสร้างประติมากรรมพระสาวกในล้านนา เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อเรื่อง พระรัตนตรัย ทางพุทธศาสนาที่ประกอบไปด้วย “พระพุทธ” หมายถึง พระพุทธเจ้า “พระธรรม” หมายถึงหลักธรรมคำสอน และ “พระสงฆ์” หมายถึงพระสาวก ทั้งนี้ในวัฒนธรรมสมัยหริภุญไชย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๙) ปรากฏทั้งประติมากรรมลอยตัวพระสาวกนั่งขัดสมาธิราบแสดงการพนมมือ และพระพิมพ์บางชิ้นยังปรากฏรูปพระสาวกนั่งคุกเข่าพนมมือขนาบข้างพระพุทธเจ้า 

          ต่อมาในวัฒนธรรมล้านนายังคงปรากฏการสร้างรูปพระสาวกในพุทธศาสนา มีตัวอย่างเช่นประติมากรรมพระอัครสาวกสองรูปที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๙๕๔ ประติมากรรมพระสาวกสัมฤทธิ์ที่จัดแสดงอยู่ในห้องล้านนา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมทั้งพระสาวกหินผลึกองค์นี้ ซึ่งได้จากโบราณสถานวัดศรีโขง โบราณสถานที่พบทั้งพระพุทธรูปงา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ และพระพุทธรูปหินผลึกเป็นจำนวนมากและมีหลากหลายสี จำนวนทั้งสิ้น ๑๑๕ ชิ้น

          แรงบันดาลใจสำคัญของการสร้างพระสาวกและพระพุทธรูปหินผลึกเหล่านี้ เกิดจากแนวคิดอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป มีปรากฏในคัมภีร์อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปฉบับล้านนา ระบุว่าอานิสงส์ที่จะได้รับจากการสร้างพระพุทธรูปนั้น ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ กรณีของแก้วหรือหินผลึกกล่าวว่า จะได้เสวยผลอานิสงส์ ๖๕ กัป**

 

 

*ตามความหมายของ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หน้า ๑๒๕๐

**กัป หมายถึง อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลกบางทีใช้คู่กับคำกัลป์ เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร.

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน นพปฏิมารัตนมารวิชัย. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๒.

กรมศิลปากร. สมบัติศิลปจากบริเวณเขื่อนภูมิพล. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แพร่การช่าง. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายนกยูง พงษ์สามารถ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘).

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.

 

 

 

 

 

ความรู้สึกทั้งหมด

152152

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1087 ครั้ง)