เถาะนักษัตร
องค์ความรู้ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เรื่อง เถาะนักษัตร
วันขึ้นปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมนับวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบการนับวันเวลาแบบจันทรคติ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงเปลี่ยนให้วันขึ้นปีใหม่ของไทยเป็นวันที่ ๑ เมษายน เนื่องจากระบบการนับจันทรคติไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ในขณะนั้นมีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ดังความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า
“...พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่าประดิทินที่ใช้กันในโลก ประเทศทั้งปวงรับใช้ประดิทินสุริยคติอย่างฝรั่งมากขึ้นทุกที่ ประดิทินทางจันทรคติมีที่ใช้น้อยลง ต่อไปวันน่าโลกคงจะใช้ประดิทินสุริยคติด้วยกันหมด ควรจะเปลี่ยนประดิทินไทยไปใช้สุริยคติเสียทีเดียว...” [สะกดตามข้อความต้นฉบับ]
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ ๑ มกราคม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา* และยังคงนับเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คติการนับปีตามนักษัตรของไทยนั้นสันนิษฐานว่ารับอิทธิพลจากจีนที่ไทยรับผ่านวัฒนธรรมเขมร โดยปรากฏหลักฐานอย่างน้อยสมัยสุโขทัย ข้อความตอนหนึ่งในศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๐ กล่าวว่า “...[มหาศักราช] ๑๒๑๔ [ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๓๕] ศกปีมะโรงพ่อขุนรามคำแหง...” รวมถึงบ้านเมืองที่ร่วมสมัยกันโดยเฉพาะดินแดนล้านนา พบการกล่าวถึงชื่อนักษัตรด้วยเช่นกัน อาทิ จารึกวัดพระยืน (ลพ. ๓๘) อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย จุลศักราช ๗๓๒ [ตรงกับ พ.ศ. ๑๙๑๓] ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๐ กล่าวว่า “...เมื่อท่านเป็นเจ้ามานั้นในปีระกา เดือนเจียง...” และจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย (พะเยา) (ลพ.๙) อักษรฝักขาม ภาษาไทย พ.ศ. ๑๙๕๔ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘ ปรากฏคำว่า “ปีมะแม”
อีกทั้งในวัฒนธรรมล้านนามีคำในภาษาตระกูลไทเกี่ยวกับ ๑๒ นักษัตร เช่น ไจ้ (ชวด) เป้า (ฉลู) ยี่ (ขาล)... ฯลฯ และพบชื่อนักษัตรเหล่านี้ได้ตามจารึกในล้านนาหลายหลัก บางครั้งพบการนับปีนักษัตรทั้งแบบอิทธิพลเขมรและวันแบบไท เช่น จารึกหลักที่ ๓๘ จารึกกฎหมายลักษณะโจร อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ กล่าวว่า “...ศกฉลูนักษัตรไพสาขปุรณมีพฤหัสบดี...”
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนปีนักษัตรในทางโหรศาสตร์นั้นจะเปลี่ยนในดิถีขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวาระเปลี่ยนปีนักษัตรตามปฏิทินโหราศาสตร์ที่นับวันแบบจันทรคติ ซึ่งเป็นวิธีคิดของศาสนาพราหมณ์จากอินเดียระบุให้วันขึ้นปีใหม่เป็นเดือน ๕ จึงทำให้โหรเริ่มนับปีนักษัตรใหม่ที่เดือน ๕ ด้วยเช่นกัน ขณะที่การบันทึกปีนักษัตรลงในใบสูติบัตร และเอกสารทะเบียนราษฎร์นั้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะบันทึกตามปฏิทินหลวงที่นับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ และวันสุดท้ายของปีนักษัตรคือวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
สำหรับ พ.ศ. ๒๕๖๖** นี้ ตรงกับปีนักษัตร เถาะหรือกระต่าย เป็นสัตว์สัญลักษณ์ลำดับที่สี่ในบรรดาสัตว์ทั้ง ๑๒ ของรอบปีนักษัตร กระต่ายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพระจันทร์ ดังปรากฏในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเรื่องไตรภูมิพระร่วง ของพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑) กล่าวว่าบนพระจันทร์มีรูปกระต่าย หรือ อรรถกถา “สสปัณฑิตชาดก” มีเรื่องย่อว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกระต่าย มีความตั้งใจรักษาศีลและให้ทาน ท้าวสักกะ (พระอินทร์) ได้แปลงเป็นนายพรานมาทดสอบจิตใจด้วยการขออาหาร ซึ่งพระโพธิ์สัตว์แสดงการให้ทานด้วยการกระโดดเข้ากองไฟเพื่อให้ตนเป็นอาหารแก่นายพราน แต่ไฟมิอาจทำอันตรายใดได้ นายพรานจึงบอกความจริงและสรรเสริญพระโพธิ์สัตว์พร้อมทั้งเขียนรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์เพื่อเป็นที่ระลึกแก่คุณความดีที่พระองค์พร้อมสละตนเป็นทานแก่สรรพสัตว์
ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๓ บันทึกของบาทหลวงปาลเลกัวซ์ (Pallegoix) ระบุว่าคนไทยถือว่ากระต่ายเป็นสัตว์เจ้าปัญญาและเจ้าเล่ห์ นิทานหลายเรื่องล้วนกล่าวถึงกระต่ายมีลักษณะปราดเปรียวและฉลาดเหนือสัตว์อื่น รวมทั้งจุดในดวงจันทร์ก็มองว่าเป็นรูปกระต่ายด้วย ดังนั้นกระต่ายในทรรศนะของคนโบราณจึงมองว่าสัมพันธ์กับดวงจันทร์ (แม้กระทั่งสำนวนไทยยังมีคำว่า กระต่ายหมายจันทร์ ซึ่งหมายถึง ผู้ชายหมายปองผู้หญิงมีฐานะดีกว่า ) และอุปนิสัยของกระต่ายนั้นเป็นสัตว์ที่อยู่ตามพื้นดิน มีความคล่องแคล่ว ว่องไว ดังเช่น คำพรรณนาในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ แต่งขึ้นในคราวพระองค์ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
๏ กระต่ายหลายพงศ์พรรค์ เต้นชมจันทร์หันตัวตาม
ซ่อนซุ้มชุมเหลือหลาม ยามออกเล่นเต้นชมกัน ฯ
๏ กระต่ายหลายพวกพ้อง พรรค์งาม
ชมชื่นแสงจันทร์ตาม ไล่เหล้น
ซ่อนซุ้มชุมเหลือหลาม หลายเหล่า
ยามเมื่อออกเล่นเต้น โลดเลี้ยวชมกัน ฯ
และในโคลง “สัตวาภิธาน” แต่งโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ (สมัยรัชกาลที่ ๕) ระบุถึงชื่อสัตว์จำพวกต่าง ๆ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
๏ กระต่ายออกเต้นตามพง ฟุบแฝงกอปรง
กระโดดแลโลดลำภอง
นอกจากนี้กระต่ายยังเป็นสัตว์เลี้ยงของราชสำนักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐาน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” กล่าวว่าบริเวณตำหนักคูหาสวรรค์เป็นสวนกระต่าย ดังข้อความกล่าวว่า “...มีพระตำหนักห้าห้อง ฝาเขียนทองพื้นลงรักอยู่ในกลางสวนกระต่าย ๑ มีประตูเข้าไปพระตำหนักตึกใหญ่ ผนังนอกทาแดง ชื่อพระตำหนักโคหาสวรรค์ ๑ พระตำหนักนี้เปนที่ประทับของสมเดจพระพรรวษาใหญ่ ซึ่งเปนพระราชเทวีสมเดจพระนารายน์แต่ก่อนมา ครั้นภายหลังมาเปนพระคลังฝ่ายใน...”
แม้กระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ บริเวณวัดบวรสถานสุทธาวาสในเขตฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เดิมเป็นวัดหลวงชี*** สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ทำเป็นสวนกระต่าย ดังข้อความใน “ตำนานวังหน้า” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...ที่วัดหลวงชี ครั้งรัชกาลที่ ๑ ทำนองจะไม่มีหลวงชีอยู่ดังแต่ก่อน กุฏิหลวงชีร้างชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดให้รื้อกุฏิหลวงชีเสียหมด ทำที่นั้นเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เข้าใจว่าที่ตรงนี้แต่เดิมก็เห็นจะเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เอาอย่างพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยาจึงปรากฏว่ามีตำหนักอยู่ในนั้น...”
*ดังนั้น พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีระยะเวลา ๙ เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม
**ตรงกับ ปีเบญจศก จุลศักราช ๑๓๘๕ และ รัตนโกสินทร์ศก ๒๔๒
***หลวงชีในที่นี้หมายถึง นางชีนามว่า “นางแม้น” มารดาของนักองค์อี (ซึ่งเป็นพระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าอุไทยราชาแห่งกัมพูชา และเป็นพระสนมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)
อ้างอิง
กรมศิลปากร. ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย ฉบับ ตรวจสอบชำระใหม่. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๖.
กรมศิลปากร. นามพรรณพฤกษา สัตวาภิธาน และ นิติสารสาธก. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและ ประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๖๕.
กรมศิลปากร. ปฏิทินหลวงพระราชทานกับการกำหนดปีนักษัตรของไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๖๖, จาก: https://www.finearts.go.th/literatureandhistory/view/22641-ปฏิทินหลวง พระราชทานกับการกำหนดปีนักษัตรของไทย
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๔.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานวังหน้า. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพฯ: แสงดาว, ๒๕๕๓.
ส. พลายน้อย (นามแฝง). สิบสองนักษัตร. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.๒.๑๙/๔. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เรื่อง วินิจฉัย จุลศักราช รัตนโกสินทร์ศก (๑๙ พ.ย. ๒๔๖๖).
บทความโดย นาย พนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(จำนวนผู้เข้าชม 1853 ครั้ง)