ก้อนดินเผากลมประทับตรารูปเรือ
ก้อนดินเผากลมประทับตรารูปเรือ
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ (๑,๖๐๐-๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว)
ได้มาจากจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ก้อนดินเผากลมประทับตรารูปเรือลวดลายนูนต่ำรูปเรือใบ มีบุคคลโดยสารอยู่ภายใน เรือใบประกอบไปด้วยเสากระโดงเรือหนึ่งต้น มีเชือกผูกติดเสาสองเส้น ยอดเสากระโดงเรือมีธงติดอยู่ และมีใบเรือหนึ่งผืนอยู่ทางด้านหน้าเรือ
ก้อนดินเผากลมประทับตรารูปเรือปรากฏในวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่สมัยอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ เช่น ที่เมืองโมเฮนโจดาโร (Mohenjo-daro) และฮารัปปา (Harappa) ประมาณ ๓,๓๐๐-๕,๓๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาในสมัยราชวงศ์ศาตวาหนะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๔-๘) นิยมทำเหรียญด้านหนึ่งเป็นรูปเรือเสากระโดงคู่ ซึ่งการทำก้อนดินเผาประทับตรารูปเรือยังสืบเนื่องมาจนถึงสมัยคุปตะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) และสมัยปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔) สันนิษฐานว่าก้อนดินเผาประทับตรารูปเรือนี้ พ่อค้าชาวอินเดียสมัยคุปตะ เป็นผู้นำเข้ามายังภูมิภาคนี้ พร้อมๆ กับการค้าและการเผยแผ่ศาสนา และพบร่วมกับตราประทับดินเผาลวดลายอื่น ๆ ที่เป็นลายมงคล (เช่น ลายสิงห์ ม้า โค ท้าวกุเวรและคชลักษมี ฯลฯ) ในบริเวณเมืองนครปฐมโบราณ และเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี และเมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
ทั้งนี้การเดินเรือเป็นที่รู้จักในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ประมาณ ๓,๕๐๐-๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในประเทศไทยมีตัวอย่างคือรูปเรือบนกลองมโหระทึก และภาพเขียนสีรูปเรือ เช่น ที่ถ้ำพญานาค จังหวัดกระบี่ และภาพเขียนสีรูปเรือ ที่แหล่งโบราณคดีเพิงผา เมืองบารู สุลาเวสีตอนใต้ ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับแหล่งเรือจมสมัยทวารวดีมีตัวอย่างคือ แหล่งเรือจมคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แหล่งเรือควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง แหล่งเรือบ้านโคกขวาง จังหวัดราชบุรี แหล่งเรือจมปากคลองกล้วย จังหวัดระนอง และแหล่งเรือพนมสุรินทร์ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีค่าอายุเก่าที่สุด ประมาณ พ.ศ. ๑๓๓๑
อ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี: ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๒.
เอิบเปรม วัชรางกูร. ประวัติศาสตร์การพาณิชย์นาวีไทย. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, ๒๕๔๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 903 ครั้ง)