ภาชนะรูปลิง
ภาชนะรูปลิง
ภาชนะจากแหล่งเตาพนมดงเร็ก จังหวัดบุรีรัมย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
กรมศิลปากร ซื้อมาจาก หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาชนะทรงโถ รูปลิงยืนมองตรง ด้านบนภาชนะเจาะรูเป็นวงกลม ใต้ส่วนใบหน้าลิงซึ่งเป็นคอคอดประดับด้วยแถบลูกประคำสองเส้น ตัวภาชนะผายและสอบลงด้านล่าง มีแขนยื่นออกและทำเป็นรูปมือกุมวัตถุซึ่งเจาะรูด้านบนสำหรับเป็นพวย ส่วนเชิงภาชนะมีแถบลูกประคำหนึ่งเส้น ใต้แถบลูกประคำประดับเป็นรูปเท้าลิง
ภาชนะใบนี้สันนิษฐานว่า แต่เดิมอาจเป็นคนโทสำหรับใส่ของเหลว ทั้งนี้ภาชนะจากแหล่งเตาพนมดงเร็กที่ทำเป็นรูปสัตว์นานาชนิด มักเป็นภาชนะใส่ปูนทาใบพลูเพื่อการเคี้ยวหมาก จากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานปราสาทหินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักพบภาชนะทรงกลมหรือทรงโถมีร่องรอยของปูนอยู่ด้านใน เช่น ปราสาทบ้านปราสาท และปราสาทพลสงคราม จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น
ในวัฒนธรรมเขมรการสร้างรูปลิง อาจสร้างขึ้นตามคุ้นเคยของช่าง ที่พบเห็นลิงป่าอาศัยอยู่ทั่วไป หรือสร้างขึ้นตามเรื่องราวในวรรณคดี ดังเช่น รามยณะ และจากการขุดแต่งบูรณะประตูหิน (ประตูทางทิศตะวันตกของเมืองพิมาย) จังหวัดนครราชสีมา ได้พบประติมากรรมรูปลิงที่มีสภาพชำรุดสูญหายไปบางส่วน เหลือเพียงท่อนลำตัว รูปลิงอยู่ในอิริยาบถนั่งชันเข่าขวา มือประสานกันที่หน้าอกโดยมีมือขวาทับมือซ้าย สวมสร้อยคอเป็นลายลูกประคำ ๓ ชั้น นุ่งผ้าสั้นเป็นลายตาราง มีลายลูกประคำเล็กๆ ที่ขอบผ้า มีหางด้านหลัง และยังมีตัวอย่างประติมากรรมลิงที่สมบูรณ์เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา ลักษณะเป็นประติมากรรมหินทรายรูปลิงนั่งชันเข่าขวา มือขวาแตะหัวเข่า มือซ้ายทาบอก ที่คอสวมสร้อยลูกประคำหนึ่งเส้น นุ่งผ้าสั้นที่อัดจีบเป็นริ้ว หางตวัดชี้ขึ้นติดกับกลางหลัง กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
อ้างอิง
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. พัฒนาการของเครื่องถ้วยเขมรสมัยเมืองพระนคร. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
วัชรินทร์ ฐิติอดิศัย. การศึกษาโบราณวัตถุในศิลปะเขมรแบบบายนที่ได้จากการขุดค้นที่เมืองพิมาย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๑.
หมายเหตุ อ่านประเด็นการทำภาชนะรูปสัตว์ (zoomorphic pot) และเทคนิคการเคลือบสีดำได้ใน >> https://www.facebook.com/.../pb.../5668477903204389/...
(จำนวนผู้เข้าชม 352 ครั้ง)