...

พระมาลัยโปรดนรก

       พระมาลัยโปรดนรก

       ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ (๑๐๐ ปีมาแล้ว)

       ได้มาจากจังหวัดอุทัยธานี นายเทียนส่าง แซ่เฮง โรงรับจำนำเจี๊ยบหลีฮอง ถนนจักรพงษ์ จังหวัดพระนคร มอบให้เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๗๕

       ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       รูปพระมาลัยยืนบนดอกบัว ครองจีวรห่มเฉียง รัดด้วยประคดอก บ่าขวาสะพายบาตร มือซ้ายยกขึ้นถือตาลปัตรใบลาน ฐานล่างทรงสี่เหลี่ยมสูง มีรูปสัตว์นรกและไฟนรก รวมทั้งเปรตรูปร่างพิกลพิการ บางตนทำท่าประนมมือขึ้นเหนือศีรษะแสดงการเคารพต่อพระมาลัย ประติมากรรมชิ้นนี้แสดงถึงเหตุการณ์ที่พระมาลัยไปโปรดสัตว์ในนรกภูมิ บันดาลให้สัตว์นรกพ้นจากเครื่องทัณฑกรรม แล้วนำเรื่องเหล่าสัตว์นรกมาแจ้งแก่ญาติให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้

       รูปแบบที่โดดเด่นของประติมากรรมพระมาลัยชิ้นนี้คือ ส่วนฐานรองรับประติมากรรมพระมาลัยเป็นดอกบัวซึ่งน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมพระมาลัย เรื่อง นิทานพระมาลัย หรือ อนุฎีกามาลัย  มีเนื้อความกล่าวว่า ครั้งพระมาลัยลงไปโปรดสัตว์นรกนั้นมีดอกบัวดอกหนึ่งใหญ่ประมาณเท่ากงจักรผุดขึ้นมารองรับพระมาลัย ส่วนฐานล่างรูปทรงสี่เหลี่ยมมีประติมากรรมรูปอสุรกายและเปรตประดับไว้โดยรอบ เป็นการแสดงรูปลักษณะของ “นรก”

       เหตุที่รูปนรกปรากฏเป็นสัณฐานทรงสี่เหลี่ยมนั้นเนื่องมาจากตามคติความเชื่อเรื่องนรกของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นเชื่อกันว่า นรกนั้นมี ๘ ขุม ได้แก่ สัญชีพนรก กาลสูตตนรก สังฆาฏนรก โรรุพนรก มหาโรรุพนรก มหาดาปนรก ดาปนรก มหาอวิจี* เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมมีประตูทางเข้าสี่ทาง มีกำแพงหนามาก และไฟลุกโชกโชนตลอดเวลา ดังข้อความในไตรภูมิพระร่วง ของพญาลิไท ว่าด้วย “นรกภูมิ” ระบุว่า

 

“...ฝูงนรกใหญ่ ๘ อันนี้ย่อมเป็น ๔ มุมและมีประตูอยู่ ๔ ทิศ พื้นหนต่ำก้อนเหล็กแดงและฝาอันปิดเบื้องบนก้อนเหล็กแดง และนรกฝูงนั้นโดยกว้างและสูงเท่ากันเป็นจัตุรัส และด้านละ ๑,๐๐๐ โยชน์ด้วยโยชน์ ๘,๐๐๐ วา โดยหนาทั้ง ๔ ด้านก็ดี พื้นเบื้องต่ำก็ดี ฝาเบื้องบนก็ดี ย่อมหนาได้ละ ๙ โยชน์ และนรกนั้นบ่มีที่เปล่าสักแห่ง เทียร**ย่อมฝูงสัตว์นรกทั้งหลายหากเบียดเสียดกันอยู่เต็มนรกนั้น และไฟนรกนั้นบ่มิดับเลยสักคาบแล ไหม้อยู่รอดชั่วต่อสิ้นกัลปแล...”

 

       นรกแต่ละขุมนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ทรมานเปรตและสัตว์นรกทั้งปวงที่ได้กระทำบาปเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ โดยมีการทรมานต่าง ๆ เช่น การถูกยมบาลแทงด้วยอาวุธ การปีนต้นงิ้ว การถูกต้มในกระทะทองแดง ถูกสุนัขและอีกาจิกกิน การถูกกงจักรปั่นศีรษะ ฯลฯ 

       การถ่ายทอดรูปแบบนรกในสัณฐานสี่เหลี่ยมนี้ยังปรากฏในหลักฐานประเภทจิตรกรรมตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยาเล่มที่ ๖ และเลขที่ ๘ ภาพเขียนเรื่องนรกสมัยกรุงธนบุรี มีตัวอย่างเช่นในสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรีเลขที่ ๑๐ และ ๑๐/ก ส่วนจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์มีตัวอย่างเช่น จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) และจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดดุสิตาราม (วัดเสาประโคน) กรุงเทพฯ ทั้งสองแห่งนี้เป็นตัวอย่างงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๑ 

       *ในหนังสือฎีกามาลัยยสูตร์ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๑ พรรณนาถึงชื่อนรกว่ามี ๘  ขุมเช่นกันแต่การสะกดชื่อขุมนรกบางแห่งนั้นต่างกันไปบ้าง อาทิ ไตรภูมิพระร่วงระบุนามขุมนรก ว่า “โรรุพนรก”  ในข้อความของฎีกามาลัยยสูตร์ระบุว่า “โรรุวนรก” เป็นต้น

      **คำว่า เทียร หมายถึง ย่อม ล้วนแล้วไปด้วย.

 

 

อ้างอิง

เด่นดาว ศิลปานนท์. “ของชิ้นเอกในพิพิธภัณพสถานแห่งชาติ : ประติมากรรมพระมาลัยปางโปรดนรก.” ศิลปากร ๕๓, ๑ (มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓): ๑๒๓-๑๒๗.

ไตรภูมิ. สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา – ฉบับกรุงธนบุรี เล่มที่ ๑-๒. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.

ลิไท, พญา. ไตรภูมิพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๑๘.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ : พัฒนาการงนช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๖.

ศรีเงิน ป. ฎีกามาลัยยสูตร์ หรือมาลัยสูตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑. พระนคร: กิมหลีหงวน, ๒๔๗๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 1536 ครั้ง)


Messenger