...

บานประตูไม้จำหลัก

       บานประตูไม้จำหลัก

       ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔

       รับมอบมาจากพระยาสฤษดิการบรรจง ผู้บัญชาการกรมรถไฟ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕

       ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องมุขเด็จ หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       บานประตูจำหลักจากไม้แผ่นเดียวลงรักปิดทองประดับกระจก จำหลักแถบลูกประคำและแถบดอกไม้สี่กลีบเป็นกรอบลาย กึ่งกลางแต่ละบานจากด้านบนลงมาด้านล่างจำหลัก รูปเทพนม ครุฑ พาลี สุครีพ หนุมาน และสิงห์ คั่นด้วยกระจังและลายหน้าขบ* รายล้อมด้วยลายกระหนกก้านขดออกรูปต่างๆ จากด้านบนลงมาด้านล่าง คือ กุมาร เทพนม กินนร หงส์ นกการเวก เหมราช ราชสีห์ คชสีห์ อัสดรเหรา และไกรสรนาคา อกเลาประตูจำหลักลายรักร้อย กลางอกเลาจำหลักลายกระหนกกระจังในผังสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

       มีข้อสังเกตว่ารูปที่จำหลักบานประตูไม้นี้จะเรียงลำดับภาพตามคติไตรภูมิในพุทธศาสนา จากตอนล่างสุดจะเป็นภาพสิงห์ ที่แสดงถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ ครุฑ เป็นอมนุษย์จำพวกกึ่งเทพกึ่งสัตว์ ที่อาศัยอยู่บนยอดต้นงิ้วในวิมานฉิมพลี และเทพนม สื่อถึงสรวงสวรรค์ของเหล่าเทพยดา ซึ่งการลำดับภาพในลักษณะนี้พบมาแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังตัวอย่างการลำดับรูปภาพบนบานประตูประดับมุกวัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๒๙๕ 

      ส่วนของการกำหนดอายุบานประตูไม้จำหลักคู่นี้ เมื่อครั้งกรมรถไฟส่งมอบบานประตูนี้แก่พิพิธภัณฑสถาน พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทอดพระเนตรแล้วมีรับสั่งว่า “บานประตูไม้เป็นฝีมือช่างเก่าไม่เกินสมัยรัชกาลที่ ๑”

       *หน้าขบ หมายถึง ด้านหน้าตรงของสิงห์หรือยักษ์ที่เรียกว่า หน้าอัด แยกเขี้ยวขบฟัน ในทางศิลปกรรมใช้เป็นลายเขียนปั้น แกะสลัก สำหรับประดับตกแต่งอาคารสถาปัตยกรรม ตลอดจนเป็นลายปักเสื้อโขนละคร ลายผ้านุ่ง ผ้าม่าน ฯลฯ นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นภาพเขียนบนโล่ เขน เครื่องป้องกันอาวุธคู่กับดาบและพิมพ์สีเป็นลายเสื้อเสนากุฎ เครื่องแบบทหารสมัยโบราณ ซึ่งแต่งเข้ากระบวนแห่ของหลวงอีกด้วย 

 

อ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม อักษร ซ-ฮ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๐.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (๔) ศธ. ๒.๑.๑/๓๔๑. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เรื่อง “ส่งบานประตูไม้สลักคู่หนึ่งมาให้พิพิธภัณฑสถานฯ”  (๒๗ ต.ค. - ๔ พ.ย. ๒๔๗๕).

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1696 ครั้ง)


Messenger