...

ชามสังคโลกลายปลา และอักษรสุโขทัยว่า “แม่ปลากา”

       ชามสังคโลกลายปลา และอักษรสุโขทัยว่า “แม่ปลากา”

        พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑

        พ.ต.อ. มนต์ชัย พันธ์คงชื่น มอบให้

        ปัจจุบันจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดแสดงถึงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

       ชิ้นส่วนชามดินเผาเขียนลายสีดำใต้เคลือบ ก้นชามด้านในกึ่งกลางมีรอยกี๋* สี่จุด เขียนลายปลาตัวเดียวหัวหน้าไปทางขวา ล้อมรอบด้วยลายวงกลม สองเส้น ด้านล่างเขียนตัวอักษรไทยสุโขทัยคำว่า “แม่ปลากา” ขอบภาชนะเขียนลายเส้นสีดำ 

       ภาชนะเคลือบชิ้นนี้แสดงเทคนิคการเขียนลายดำใต้เคลือบใส ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในช่วงการผลิตเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยในระยะกลาง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑) โดยวัสดุที่ใช้เขียนลายสีดำคือ สนิมเหล็ก ซึ่งการผลิตภาชนะเทคนิคดังกล่าวพบทั้งที่แหล่งเตาเกาะน้อย ศรีสัชนาลัย และแหล่งเตาเมืองสุโขทัย ร่วมกับภาชนะเทคนิคอื่น เช่น ภาชนะเคลือบสีน้ำตาลอมดำ และ ภาชนะเคลือบสีเขียวอมฟ้า เป็นต้น

       ปลากา เป็นปลาน้ำจืดคล้ายกับปลาตะเพียน มีรูปร่างป้อม หลังป่อง ครีบหลังสูง ที่ปากมีหนวดสองคู่ ลำตัวออกสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีเกล็ดเล็กออกสีแดงแซม ครีบหางเว้าลึก ปลาชนิดนี้มักหากินตามพื้นท้องน้ำ ชอบแทะเล็มตะไคร่น้ำและสาหร่าย พบปลาชนิดนี้ได้ตามแม่น้ำและแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศไทย สันนิษฐานว่ากลุ่มภาชนะเขียนลายปลาเหล่านี้สัมพันธ์กับคติเรื่องความอุดมสมบูรณ์

       *กี๋ (supporter) หมายถึง วัตถุที่ใช้รองภาชนะเพื่อกันมิให้สกปรกหรือติดกันในขั้นตอนการเผาภาชนะ กี๋มักทำมาจากดินเผาในลักษณะต่าง ๆ เช่น กี๋เม็ด (คล้ายกระสุนดินเผา) กี๋ท่อ กี๋จาน เป็นต้น

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๐.

ธันยกานต์ วงษ์อ่อน และปริวรรต ธรรมาปรีชากร. เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยและศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: S.P.M. การพิมพ์, ๒๕๕๘.

The Fine Arts Department. The Endless Epic of Japanese-Thai Ceramic Relationship in the World’s Trade and Culture (CATALOGUE). Bangkok: Central Administrative Office, The Fine Arts Department, 2022.

(จำนวนผู้เข้าชม 2534 ครั้ง)


Messenger