...

ธรรมจักร
     

      ธรรมจักร
      สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕
      ขุดได้ในฐานพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม นำมาไว้ในพิพิธภัณฑสถานฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑
      ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
      ธรรมจักรศิลาสลักลาย ฐานธรรมจักรสลักกลีบบัวคว่ำ-บัวหงาย และแถบเม็ดพลอยสี่เหลี่ยมสลับวงรีกงล้อสลักลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สลับพลอยเม็ดกลมที่มีลวดลายดอกไม้และมีกระหนกผักกูดแตกออกมา ๘ ตัว ขมวดคล้ายเลข ๑ ไทย ขนาบข้างด้วยแถบลายเม็ดประคำ ซี่ล้อหรือกำสลักส่วนโคนประดับลายกระหนกรูปทรงคล้ายกระจัง ส่วนยอดสลักลายก้านขดข้างละตัวคาดด้วยแถบลายลูกประคำบริเวณรอบดุมธรรมจักรสลักเป็นลายวงกลม มีแถบลวดลายซ้อนกันเรียงจากวงกลมด้านนอกมายังด้านใน ได้แก่ ลายฟันปลา แถบลายก้านขด ลายลูกประคำ ลายกลีบบัว และลายลูกประคำ ตามลำดับ ดุมธรรมจักรรูปทรงกลมเรียบไม่มีลวดลาย 
      การสร้างประติมากรรมรูปธรรมจักรนั้นพบหลักฐานตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓)* ใช้แทนรูปเคารพพระพุทธเจ้าปางแสดงธรรม ส่วนในประเทศไทยน่าจะรับคติธรรมจักรพร้อม ๆ กับการรับพุทธศาสนาเข้ามาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ตรงกับสมัยทวารดี สันนิษฐานว่าการบูชาธรรมจักรในอดีต จะตั้งธรรมจักรไว้บนหัวเสาและมีแท่นรองรับ อาจตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งหรือในพื้นที่มีหลังคาคลุม เนื่องจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบแท่นและเสาธรรมจักรเป็นจำนวนมาก โดยแหล่งที่พบธรรมจักรเป็นจำนวนมากนั้นคือบริเวณเมืองนครปฐมโบราณ (จังหวัดนครปฐม) นอกจากนี้ยังพบธรรมจักรตามแหล่งชุมชนโบราณต่าง ๆ อีกหลายแห่งที่มีหลักฐานศิลปกรรมเกี่ยวข้องกับทวารวดี เช่นที่เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรี) เมืองลพบุรี (จังหวัดลพบุรี) เมืองอู่ตะเภา (จังหวัดชัยนาท) เมืองเสมา (จังหวัดนครราชสีมา) บริเวณอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นต้น
      รูปแบบลวดลายบนธรรมจักรชิ้นนี้ จากการเรียงลวดลายได้แก่ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสลับกับลายเม็ดพลอยกลมสลักลวดลายดอกไม้มีกระหนกแตกออกมาเป็นกระหนกผักกูด ลักษณะขมวดคล้ายเลข ๑ ไทยจำนวน ๘ ตัว น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะวกาฏกะของอินเดีย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑) ได้แก่
๑. แสดงการจัดลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสลับกับลายเม็ดพลอย 
๒. การแสดงระบบลายหลักคือลายเม็ดพลอยกลมมีกระหนกแตกออกมาล้อมรอบ ขณะที่ลายรองคือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนไม่มีกระหนกล้อมรอบ 
๓. ลายกระหนกผักกูดที่ปรากฏบนธรรมจักรชิ้นนี้ แสดงส่วนหัวกระหนกมีลายขูดขีดเป็นเม็ดกลม คล้ายกับลายกระหนกผักกูดของศิลปะวกาฏกะ (ที่สืบเนื่องจากศิลปะคุปตะ) 
      อย่างไรก็ตามธรรมจักรชิ้นนี้ยังมีรูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของ “ศิลปะทวารวดี” (ซึ่งไม่ปรากฏในศิลปะอินเดีย) ได้แก่ การตกแต่งเป็นลายดอกไม้ในรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนและลายเม็ดพลอยวงกลม รวมทั้งจำนวนกระหนกที่แตกออกมาถึง ๘ ตัวนั้นไม่มีปรากฏในศิลปวกาฏกะ 
      ธรรมจักรชิ้นนี้ตามประวัติระบุว่า พบที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และนำส่งเข้ามาในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี หรือ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซม ดังที่ปรากฏในหนังสือราชการที่ขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) ภัณฑารักษ์ในขณะนั้นทูลเสวกเอก หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤษดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานในขณะนั้น ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ความตอนหนึ่งว่า
      “...ด้วยในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครมีศิลาธรรมจักร์ขนาดใหญ่อยู่อัน ๑ ตั้งไว้ที่ห้องหินเข้าคู่กับพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยเก่า** แต่ธรรมจักรชำรุดแตกหายไปเสียครึ่งซีก เหลืออยู่เพียงครึ่งซีก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา มีพระประสงค์ให้ นายฟีโรจี ไปช่วยจัดการทำซีกที่แตกหายไปนั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ การที่จะทำ นายฟีโรจีไม่ต้องลงมือทำเองก็ได้ เปนแต่บอกวิธีที่จะทำให้แก่ลูกศิษย์ของนายฟีโรจี แล้วให้ลูกศิษย์เปนผู้ทำต่อไป ของที่จะใช้มี ปูนปลาสเตอร์ ทราย แลปูนขาว เปนต้น...”
      การดำเนินงานซ่อมแซมธรรมจักรนั้น เสร็จสิ้นประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น ๑๓๘ บาท ๑๐ สตางค์
 
 
*อ่านประเด็นความหมายของธรรมจักร ได้ใน เรื่อง ดินเผากลมประทับธรรมจักรกวางหมอบ (https://www.facebook.com/.../a.531316277.../5363449643707218)
**หมายถึง พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ (เลขทะเบียน ทว.๕๒) พบที่วัดมหาธาตุจังหวัดสุโขทัยเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ และนำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
อ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ลวดลายศิลปะทวารวดี : การศึกษาที่มาและการตรวจสอบกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ-วกาฏกะ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๕.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี:  เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔)ศธ. ๒.๑.๑/๓๒. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เรื่อง ของรับศิลาธรรมจักร์ แลนำเครื่องศิลาของพิพิธภัณฑสถานฯ ไปไว้ที่นครปฐมพร้อมทั้งพัทธเสมาด้วย (๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ - ๕ กันยายน ๒๔๗๒).

(จำนวนผู้เข้าชม 14072 ครั้ง)


Messenger