สิงห์ (สิงห์ทวารบาล)
สิงห์ (สิงห์ทวารบาล)
ศิลปะชวาภาคกลาง (พุทธศตวรรษที่ ๑๔)
ได้มาจากพุทธสถานบุโรพุทโธ (Borobudur) เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รูปสิงโตจำหลักศิลา ใบหน้าสิงโตแสดงอาการดุร้าย ดวงตากลมโต เบิกโพลง ปากอ้า ส่วนลำตัวหนา แผงคอลักษณะเป็นแถบเส้นตรงส่วนปลายขมวดเป็นก้นหอยซ้อนกันสามชั้น ยกขาหน้าขึ้นในลักษณะทำท่าขู่ (ส่วนปลายเท้าขาหน้าได้รับการซ่อมแซมใหม่ในภายหลัง) นั่งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม
ประติมากรรมรูปสิงห์ทวารบาล ในศิลปะชวานั้นเป็นผลมาจากการรับวัฒนธรรมจากทางอินเดีย ซึ่งสิงห์เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ลักษณะของการเป็นผู้นำ (เจ้าป่า) และผู้พิทักษ์ ดังนั้นจึงมีการตั้งรูปสิงห์ไว้ด้านหน้าศาสนสถานหลายแห่ง และมักจะแสดงออกด้วยท่าทางเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการยกขาหน้าขึ้นแสดงความน่าเกรงขาม* เสมือนเป็นผู้ปกปักรักษาศาสนสถานแห่งนั้น สำหรับประติมากรรมสิงห์ชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในประติมากรรมสิงห์ทวารบาลของพุทธสถานบุโรพุทโธ (Borobudur) โดยตั้งสิงห์ไว้คู่กันบริเวณทางขึ้นพุทธศาสนสถาน สร้างขึ้นโดยราชวงศ์ไศเลนทร์ ซึ่งนับถือพุทธศาสนามหายานขณะที่ศาสนสถานบางแห่ง เช่น จันทิงาเวน (Candi Ngawen) เมืองมุติลัน (Muntilan) ปรากฏรูปสิงห์ยืนตั้งอยู่ที่มุมพุทธสถาน นอกจากนี้บนซุ้มประตูพุทธสถานบางแห่งในศิลปะชวาภาคกลาง มีการประดับรูปสิงห์ขนาบทั้งสองข้างของหน้ากาล เช่น หน้ากาลจากที่ราบสูงเดียง (Dieng Plateau) เป็นต้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสชวา ในครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพุทธสถานบุโรพุทโธ (Borobudur) และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเลือกชิ้นส่วนประติมากรรมไว้เป็นที่ระลึก ดังข้อความในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...กลับลงมาเลือกลายต่าง ๆ ที่ตกอยู่ข้างล่าง คือนาคะหรือช้าง ลายหลังซุ้มพระเจดีย์ ๑ รากษสเล็กตัว ๑ สิงโตขาหัก ๒ ตัว ท่อน้ำอัน ๑...”
ภายหลังเสด็จจากประพาสชวา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีสมโภชพระพุทธรูปและเทวรูปที่ทรงได้มาจากชวา กล่าวคือสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้มาจากชวา โดยเทวรูปและพระพุทธรูปประดิษฐาน ณ โรงพิธีที่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ในครั้งนั้นพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์และพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จพระราชดำเนิน ดูสิ่งของที่ได้จากชวา พร้อมทั้งมีการแสดงทางวัฒนธรรมของทางชวา ทั้งการรำและการดนตรีอย่างชวา หลังจากนั้นสิงห์ชวาคู่นี้ได้เก็บรักษาอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงมีการย้ายสิงห์ชวาคู่นี้มาจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ปรากฏข้อความในลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ฉันเข้าไปในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เห็นของที่ควรจะย้ายเอามารักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน มี ๒ อย่าง** คือ ๑. สิงห์ชะวา ทำด้วยศิลาคู่ ๑ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงได้มาแต่บุโรบุดอ เดี๋ยวนี้ยังตั้งอยู่ที่มุมหอพระคันธารราษฎร์ ควรจะย้ายเอามาไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน ด้วยเครื่องศิลาที่ได้มาจากชะวาครั้งนั้นรวบรวมอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานหมดแล้ว ยังแยกกันอยู่แต่สิงห์ที่ว่านี้คู่เดียว...”
*การทำท่าให้น่าเกรงขาม หรือขู่ให้กลัว เป็นความหมายเดียวกับการแสดงท่า “ดรรชนีมุทรา” โดยทวารบาลตามทางเข้าศาสนสถานนิยมแสดงมุทรานี้ด้วยการชูสองนิ้วขึ้น ในศิลปะชวาภาคตะวันออก และบาหลี พบว่ามีการนำมุทรานี้ไปใช้กับหน้ากาลบนซุ้มประตูทางเข้าศาสนสถานด้วย
**อีกรายการหนึ่งคือ สิงห์ศิลาศิลปะเขมร คู่หนึ่งซึ่งแต่เดิมอยู่ตรงพระศรีรัตนเจดีย์
อ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของ รูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๕.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบ พัฒนาการ ความหมาย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๘ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงารพระศพ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธกรมหลวงนครราชสีมา ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๖๘).
สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะอินโดนีเซียสมัยโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๕.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔) ศธ. ๒.๑.๑/๒๗๖. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร. เรื่อง ขอรับสิงห์ชะวาและสิงห์เขมรจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน (๑๖ ก.พ. - ๒๑ มี.ค. ๒๔๗๔).
อมรา ศรีสุชาติ. พุทธปฏิมาวิจักษณ์จากภารตะสู่สุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๑.
“เรื่อง การสมโภชพระพุทธรูป แลเทวรูปที่ทรงได้มาแต่ประเทศชวา.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓ ตอน ๒๕ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๓๙. หน้า ๒๖๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 2461 ครั้ง)