...

กลองมโหระทึกยางแดง

      กลองมโหระทึกยางแดง

      สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔

      พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชทานให้พิพิธภัณฑสถาน 

      ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      กลองมโหระทึกยางแดง ลักษณะเป็นกลองหน้าเดียว หน้ากลองมีลายดาวแฉกอยู่กึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยเส้นวงกลมซ้อนกันเป็นชั้นๆ คั่นด้วยลายดอกไม้สลับลายนก ขอบกลองประดับกบสามตัวซ้อนกันทั้ง ๔ ด้าน ด้านข้างกลองมีหูหิ้วสองข้าง ตัวกลองด้านบนคอดลงและด้านล่างผายออกเล็กน้อย ประดับแถบลายดอกไม้และลายสี่เหลี่ยม

      กลองมโหระทึกเป็นเครื่องดนตรีในพิธีกรรมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยพบกลองมโหระทึกจากแหล่งโบราณคดีในหลายพื้นที่ เช่น อุตรดิตถ์ มุกดาหาร อุบลราชานี ราชบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช และสงขลา เป็นต้น สันนิษฐานว่าในอดีตกลองมโหระทึกเป็นเครื่องประโคมในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ และความตาย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการแสดงสถานะของความเป็นผู้นำชุมชนในแต่ละท้องที่ นอกจากนี้ยังเป็นภาพสะท้อนของการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนต่าง ๆ เนื่องจากกลองมโหระทึกเป็นโบราณวัตถุที่พบอย่างแพร่หลายทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะแหล่งชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้า

     ส่วนเหตุที่เรียกกลองมโหระทึกยางแดงนั้น เนื่องจากเป็นรูปแบบกลองของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งในอดีตคนไทยเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ยางแดง” กล่าวคือ ผู้นำชุมชนจะเป็นผู้ครอบครองกลองมโหระทึก และใช้ตีในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ความนิยมในการครอบครองกลองมโหระทึกนี้มีปรากฏในบันทึกการสำรวจประเทศไทยของพระวิภาคภูวดล หรือ เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาธี (Jame Fitzroy McCathy) เจ้ากรมแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

 

“...เราพบชาวขมุกลุ่มหนึ่งขนกลองโลหะที่งดงามมาด้วยหลายใบ รอบขอบกลองด้านหน้าประดับด้วยรูปกบ จากลักษณะดังกล่าว พวกเราจึงเรียกว่า “กลองกบ” กลองนี้ทำขึ้นในถิ่นของชาวกะเหรี่ยงแดง ชาวสยามใช้ตีเฉพาะในงานพระราชพิธีเท่านั้น และเรียกว่า กลองมโหระทึก ชาวขมุพยายามทำงานอย่างลำบากตรากตรำด้วยความปรารถนาจะได้กลองเช่นนี้กลับไปถิ่นฐานของพวกเขาที่เมืองหลวงพระบาง...”

 

      ทั้งนี้กะเหรี่ยงแดงหรือยางแดง เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวกะเหรี่ยงในงานศึกษาเรื่อง “ว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย” ของ เอ คารร์ และอี.ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๔๙๓ กล่าวถึง ยางแดงหรือกะเหรี่ยงแดงไว้ว่า เป็นกลุ่มชนที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ชายสวมเสื้อและกางเกงขาสั้นสีแดง นิยมสักรูปพระอาทิตย์ที่หลัง ผู้หญิงนุ่งซิ่นสีแดง นิยมใช้ห่วงไม้ทาสีดำรัดขาใต้หัวเข่า ส่วนศีรษะโพกผ้า

      ราชสำนักในสมัยรัตนโกสินทร์ใช้กลองมโหระทึกประโคมในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น สมัยรัชกาลที่ ๕ คราวพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวันคล้ายประสูติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้มีการอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระบรมทนต์ และพระพุทธรูปประจำวันพระชนมพรรษา ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีกลองชนะ แตร สังข์ มโหระทึกประโคมตลอดพิธี และปัจจุบันยังคงใช้กลองมโหระทึกประกอบพิธีสำคัญ อาทิ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นอกจากนี้กลองมโหระทึกยังปรากฏใน “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวถึงบุคคลที่อาศัยอยู่ ณ ดินแดนอุตรกุรุทวีป ว่าเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ ผู้คนไม่แก่เฒ่า ต่างเที่ยวเล่นกันไปอย่างสนุกสนานมีการร้องรำทำเพลง ดังความตอนหนึ่งกล่าวว่า “...พื้นฆ้องกลองแตรสังข์กังสดาล หรทึกกึกก้อง ทำนุกพิธี*มีดอกไม้อันตระการต่าง ๆ สิ่ง...”

      *ทำนุกพิธี หมายถึง ประกอบพิธี

 

 

 

อ้างอิง

จิรวัฒน์ วรชัย บรรณาธิการ. ชนชาติไทย ประมวลพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม และชาติพันธุ์วิทยา. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๖๒.

ธนิต อยู่โพธิ์. หนังสือเครื่องดนตรีไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิฆเณศ, ๒๕๓๐ (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ ๘๐ ปี ของ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๔๙๙- ๒๕๑๑ วันอังคารที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐).

แมคคาร์ธี, เจมส์. บันทึกการเดินทางสำรวจประเทศสยามโดย เจมส์ แมคคาร์ธี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๖๒.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ร้องรำทำเพลง: ดนตรีและนาฎศิลป์ชาวสยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: งานดี, ๒๕๕๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 874 ครั้ง)


Messenger