...

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศักราช ๒๐๔๖

      พระพุทธรูปปางมารวิชัย

      ศิลปะล้านนา พุทธศักราช ๒๐๔๖

      พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงได้มาจากเมืองพะเยา คราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙

      ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นบน) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา หล่อจากสำริดเมื่อพุทธศักราช ๒๐๔๖ มีพุทธลักษณะสำคัญคือ พระรัศมีเป็นเปลว พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี ส่วนปลายตัดตรงและมีการตกแต่งลวดลายตรงส่วนปลาย ประทับขัดสมาธิราบบนฐานบัวรองรับด้วยฐานหน้ากระดานหกเหลี่ยมเจาะช่องกระจกคล้ายลายเมฆ (ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากลายเมฆที่ปรากฏบนภาชนะเครื่องถ้วยในศิลปะจีน)

     ที่ฐานของพระพุทธรูปมีจารึกอักษรธรรมล้านนา และอักษรฝักขาม ระบุประวัติในการสร้างว่า “ศักราชได้ ๘๖๕ ตัวมหาเถรเป็นเจ้าผ้าขาวทอตาสิบแก้วสร้างนักบุญทั้งหลายหื้อได้พระเป็นเจ้าตนนี้ พันญิบหมื่นเจ็ดพันทองขอเถิงนิพพาน”*

     พระพุทธรูปองค์นี้แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี ประทับขัดสมาธิราบ ขณะเดียวกันก็แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอยุธยาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับขัดสมาธิราบ ระบุศักราชที่ฐานตรงกับ พ.ศ.๒๐๔๐ ณ วัดพันเตา และพระเจ้าเก้าตื้อ (สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๐๕๙) พระพุทธรูป ณ วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ พระพุทธรูปเหล่านี้มีประวัติว่าสร้างขึ้นในรัชกาลของพญาแก้ว (พ.ศ.๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) ซึ่งในชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ส่งเสริมพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ทรงบูรณะและสร้างวัดหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดมหาโพธารามและวัดป่าแดงมหาวิหาร

      อีกทั้งพระองค์ทรงให้การสนับสนุนนิกายสีหล อีกทั้งมีวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้หลายเรื่อง อาทิ เรื่องจามเทวีวงศ์และสิหิงคนิทานของพระโพธิรังสี ชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเถระ และปัญญาสชาดก (ชาดก ๕๐เรื่อง) ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

     *คำอ่านจารึก

     "พุทธศักราช ๒๐๔๖ มหาเถร ผ้าขาวทอ และตาสิบแก้ว สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ พร้อมกับ พันญิบ หมื่นเจ็ด พันทอง ขอให้ถึงนิพพาน"

 

 

อ้างอิง

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, ๒๕๕๑.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 3885 ครั้ง)


Messenger