...

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

       พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

       สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔

       ได้มาจากพิพิธภัณฑสถาน จังหวัดพิษณุโลก

       ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

       พระพุทธรูปศิลา ส่วนพระเศียรและพระกรชำรุดหักหายไป (สันนิษฐานว่าแต่เดิมยกพระหัตถ์ขึ้นจีบพระหัตถ์ในท่าแสดงธรรม) พระวรกายแสดงการครองจีวรห่มเฉียง ประทับขัดสมาธิราบเหนือพาหนะรูปสัตว์ผสม เรียกว่า “พนัสบดี” ด้านข้างของพระพุทธรูป มีบริวารแสดงการพนมมือขึ้นมาทั้งสองข้างแต่ชำรุดหักหายไปค่อนข้างมาก

       พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีชิ้นนี้ตามประวัติ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) เมื่อครั้งขึ้นมาตรวจราชการที่จังหวัดพิษณุโลก ได้ถ่ายรูปส่งถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทอดพระเนตร และพระองค์มีลายพระหัตถ์ถึงมหาอำมาตย์ตรี พระยานครพระราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความว่า 

 

“...เปนของแปลกและยังไม่มีในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ของชะนิดนี้ไม่ใช่เปนฝีมือช่างทางฝ่ายเหนืออันจำเปนจะต้องรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานจังหวัดพิษณุโลก ฉันจึงได้จดหมายฉะบับนี้มาขอให้เจ้าคุณจัดการส่งพระพุทธรูปองค์นี้ลงไปยังพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร...” และได้ดำเนินการส่งพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีองค์นี้มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ในปีเดียวกัน

 

       พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีเป็นประติมากรรมที่พบอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย เช่น เมืองนครปฐม เมืองซับจำปา (จังหวัดลพบุรี) เมืองศรีเทพ (จังหวัดเพชรบูรณ์) เมืองพระรถ (จังหวัดชลบุรี) เป็นต้น แต่ส่วนมากนิยมทำพระพุทธรูปทรงยืนขนาบข้างด้วยบริวาร ในกรณีพระพุทธรูปประทับนั่งมีตัวอย่างน้อยมาก ขณะที่พาหนะหรือพนัสบดีนั้นมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งแบบสัตว์ผสมและแบบรูปบุคคลถือดอกบัว 

       ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความหมายของพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี ปัจจุบันได้รับการตีความใหม่ว่าน่าจะหมายถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่เหนือเหล่าสรรพสัตว์ เนื่องจากคำว่า “พนัสบดี” (Vanaspati) หมายถึงเจ้าป่า ประกอบกับรูปแบบของสัตว์ผสมดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับครุฑ หรือ สิงห์ที่มีปีก* ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีสถานะเป็นเจ้าป่า นอกจากนี้พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีหลายชิ้นพบว่ามีการเจาะรูบริเวณกึ่งกลางและที่ด้านหลังมีเดือยยื่นออกมา ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าเดือยและรูนี้ใช้สำหรับยึดติดกับดุมของธรรมจักร ซึ่งจักรเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระสุริยะที่ให้แสงสว่าง เช่นเดียวกับการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนา

       *ประติมากรรมสิงห์มีปีก มีตัวอย่างเช่น ปูนปั้นสิงห์มีปีกประดับส่วนฐานอาคารที่เมืองโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

 

 

อ้างอิง

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔)ศธ. ๒.๑.๑/๓๑๒. เอกสารกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร เรื่อง ขอรับพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาศิลา สมัยทวารวดี จากพิพิธภัณฑสถาน จังหวัดพิษณุโลก (๔ กรกฎาคม - ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕).

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี:  เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 2872 ครั้ง)


Messenger