ไก่และสุ่มไก่สัมฤทธิ์
ไก่และสุ่มไก่สัมฤทธิ์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ๑,๗๐๐ - ๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว
พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องก่อนประวัติศาสตร์ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปไก่ตัวผู้ (มีลักษณะหงอนที่หัว แผงคอ และปลายขนหางยาว) ยืนเกาะอยู่บนเสาคาน มีเดือยสวมพอดีกับสุ่มไก่* บริเวณหางไก่ปรากฏร่องรอยของเศษผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชง (hemp) ติดอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผ้าที่ผู้วายชนม์สวมใส่หรือผ้าสำหรับห่อศพ
โบราณวัตถุชิ้นนี้คือตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนถึงสภาพชุมชนของแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ซึ่งเป็นชุมชนที่ดำรงอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายได้หลายประการ กล่าวคือ ประการแรก แสดงถึงวิทยาการการหล่อโลหะ ซึ่งจากการวิเคราะห์เนื้อโลหะพบว่ามีส่วนผสมของดีบุก ๒๓-๒๘ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้วัตถุมีสีคล้ายทองจนถึงเงิน และยังพบเทคนิคเดียวกันนี้กับชิ้นส่วนภาชนะสัมฤทธิ์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรด้วยเช่นกัน
ประการที่สอง ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรมีแบบแผนของการฝังศพครั้งที่ ๒ ซึ่งพบโบราณวัตถุที่อยู่ภายในหลุมศพหลายชิ้น และยังแสดงถึงการติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ ทางไกล เนื่องจากพบโบราณวัตถุประเภทลูกปัดแก้ว เครื่องประดับหินคาร์เนเลียน และหินอาเกต รวมถึงวัตถุสัมฤทธิ์รูปแบบพิเศษดังเช่นไก่และสุ่มไก่สัมฤทธิ์ชิ้นนี้ด้วย
ประการที่สาม ร่องรอยของเศษผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชง (hemp) ติดอยู่บนวัตถุ ยังเป็นหลักฐานว่าชุมชนแห่งนี้มีการใช้ผ้าซึ่งทอขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ ด้วยเส้นใยของป่านกัญชา ประกอบกับบางหลุมศพพบเศษผ้าไหม (สันนิษฐานว่านำเข้ามาจากชุมชนทางประเทศจีน) และเส้นใยของปอมะนิลาแบบเดียวกับที่ทำเชือกเรือใบ ซึ่งเทคโนโลยีการทอผ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติดังกล่าว ปรากฏหลักฐานเด่นชัดในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงที่ผู้คนมีการใช้โลหะแล้ว
ประการสุดท้าย ประติมากรรมไก่และสุ่มไก่สัมฤทธิ์ เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร มีการเลี้ยงไก่ไว้ในพื้นที่ ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทยพบว่าชุมชนในช่วงสมัยหินใหม่ (ประมาณ ๓,๓๐๐ - ๔,๓๐๐ ปีมาแล้ว) หลายแห่ง ก็ปรากฏกระดูกไก่ในพื้นที่แหล่งโบราณคดี เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง พบกระดูกไก่ในภาชนะที่ฝังอยู่ในหลุมศพ และที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ก็พบกระดูกไก่ในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
*อย่างไรก็ตามจากการขุดค้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๔ พบว่าไก่สัมฤทธิ์และสุ่มไก่สัมฤทธิ์ไม่ได้ติดอยู่ด้วยกัน แต่เป็นการขุดค้นเจอโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นในบริเวณใกล้เคียงกันจึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมทั้งสองชิ้นน่าจะติดกัน
อ้างอิง
กรมศิลปากร. คนแรกเริ่มบนแผ่นดินเรา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๙.
กรมศิลปากร. วัฒนธรรมบ้านเก่า. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๕.
สมชาย ณ นครพนม. “ไก่ ๑,๐๐๐ ปี จากหลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทย”. พิพิธวิทยาการ รวมบทความทางวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์วิทยา ๒๕๕๓. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 1185 ครั้ง)