พระพุทธรูปแก้วผลึก
พระพุทธรูปแก้วผลึก
ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๔
หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ประทาน
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปหินผลึกใส หรือที่เรียกว่าพระพุทธรูปแก้วน้ำค้าง จำหลักเป็นรูปพระพุทธรูปสี่พระองค์ประทับขัดสมาธิราบหันพระปฤษฎางค์เข้าหากัน แสดงปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะสำคัญคือ พระรัศมีเป็นเปลว พระพักตร์รูปไข่ พระวรกายค่อนข้างหนา ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นเล็กยาวจรดพระนาภี ส่วนปลายแยกออกจากกันคล้ายเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน และมีพระพุทธรูปยืนหนึ่งองค์ แสดงปางห้ามแก่นจันทน์ เบื้องล่างมีเดือยสวมลงกับเบ้ากลมที่อยู่เหนือพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสี่ ดังนั้นจึงหมายถึงอดีตพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และพระศรีอาริยเมตไตรย
หินผลึกใสที่นำมาสร้างพระพุทธรูปนี้เรียกว่า รัตนชาติ เป็นแร่หินในตระกูลควอตซ์ (Quartz) ประเภทหินกึ่งอัญมณี (Semi-Precious Stone) หรือ พลอยหินเนื้ออ่อนสีต่าง ๆ ทั้งเนื้อใส เนื้อขุ่น และหินสี (Colored Stone) ซึ่งเป็นเนื้อหินที่หายาก จึงถือเป็นของมีค่า ส่วนเหตุที่เรียกรัตนชาติที่มีลักษณะเป็นผลึกใสว่า “แก้วน้ำค้าง” นั้นเนื่องมาจากลักษณะความใสสะอาดบริสุทธิ์ของเนื้อหิน ไม่มีสิ่งเจือปน เปรียบได้กับน้ำค้างยามรุ่งอรุณ อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าหินประเภทนี้จะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขอีกด้วย
ในวัฒนธรรมล้านนา มีความเชื่อเกี่ยวกับวัสดุที่นำมาสร้างพระพุทธรูปว่าจะได้ผลานิสงส์ หรือบุญกุศลที่แตกต่างกันออกไป ดังปรากฏใน “คัมภีร์อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป” จ.ศ. ๑๒๙๐ (พ.ศ. ๒๔๗๑) จากวัดควรค่าม้า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อความระบุถึงบุญกุศลจากการสร้างพระพุทธรูปด้วยเนื้อชิน เงิน ทองคำ และแก้ว ต่างกันออกไป โดยที่การสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วนั้น จะได้รับบุญกุศลสูงที่สุด
หรือกล่าวได้ว่าหินผลึกที่มีลักษณะเหมือนแก้วเป็นวัสดุที่มีค่าสูง นอกจากนี้วัดสำคัญในเมืองเชียงใหม่ยังประดิษฐานพระแก้วเป็นพระประธาน อาทิ พระเสตังคมณี หรือ พระแก้วขาว ลักษณะเป็นพระแก้วขาวที่มีเนื้อใสดุจน้ำค้าง นับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และมีตำนานเกี่ยวข้องกับพญามังราย ผู้สถาปนาอาณาจักร ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดเชียงมั่น อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน นพปฏิมารัตนมารวิชัย. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1022 ครั้ง)