...

พระโพธิสัตว์อุษณีษวิชัย

       พระโพธิสัตว์อุษณีษวิชัย

       ศิลปะทิเบต พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐

       ของหลวงพระราชทานยืม เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๔๗๐ 

       ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อุษณีษวิชัย (Usnīsa vijaya) พระโพธิสัตว์เพศหญิง ส่วนพระเศียรทรงอุณหิศ (กระบังหน้า) ประดับตาบสามเหลี่ยม มีสามพระพักตร์ แต่ละพระพักตร์มีสามพระเนตร พระกรรณทรงกุณฑลเป็นห่วงกลม ทรงพระภูษาพาดคลุมพระพาหาทั้งสองข้าง และทรงเครื่องประดับ อาทิ กรองศอ สร้อยสังวาล พระโพธิ์สัตว์มีแปดพระกร สองพระกรด้านหน้าสุดแสดงธรรมจักรมุทรา ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานปัทม์

       พระโพธิสัตว์อุษณีษวิชัย หรือในทิเบตเรียกนามพระโพธิสัตว์องค์นี้ว่า “นัมจัลมา” (Namgyelma) เป็นหนึ่งในพระโพธิสัตว์เพศหญิงตามความเชื่อของพุทธศาสนา นิกายตันตระ ซึ่งพระองค์เป็นเทพแห่งความอายุยืนนาน ทรงมีพระกายสีขาว พระเศียรมีสามพระพักตร์ พระพักตร์ขวาผิวสีน้ำเงิน พระพักตร์กลางผิวสีขาว และพระพักตร์ซ้ายผิวสีเหลือง ทรงมีแปดพระกร สองพระกรด้านหน้าแสดงปางธรรมจักรมุทรา ส่วนพระกรอื่นทรงวัตถุต่างกันออกไป ได้แก่ ลูกศร คันธนู รูปพระพุทธรูป วิศววัชระ และแจกันที่บรรุจน้ำทิพย์เพื่อความเป็นอมตะ 

       ส่วนในประเทศไทย แม้จะนับถือพุทธศาสนาเถรวาทเป็นหลัก แต่มีบทสวดที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามหายาน และน่าจะสัมพันธ์กับพระโพธิสัตว์อุษณีษวิชัย ด้วยเช่นกันเนื่องจากมีความหมายเกี่ยวข้องกับ “การมีอายุยืนนาน” กล่าวคือ “อุณหิสวิชัยสูตร” เป็นคาถาภาษาบาลี โดยเชื่อว่าน่าจะคลี่คลายมาจาก “อุษณีษวิชยธารณี” ในภาษาสันสฤต สำหรับอุณหิสวิชัยสูตรมีเนื้อความกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงกล่าวคาถาอุณหิสวิชัยแก่สุปดิศเทพ ซึ่งเป็นเทวดาองค์หนึ่งที่กำลังจะสิ้นผลบุญและต้องไปเกิดยังนรกภูมิ ใจความของคาถานี้คือ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ด้วยอานุภาพแห่งศีลและพระธรรมอันสุจริต และการเจริญพระคาถาอุณหิสวิชัย จะทำให้มีอายุยืนยาว เมื่อสุปดิศเทพได้ฟังคาถานี้ ได้ทำตามเนื้อความพระคาถา จึงมีอายุยืนยาวถึง ๒ พุทธันดร* 

       ทั้งนี้อุณหิสวิชัยสูตร เป็นมนต์คาถาที่เก่าแก่บทหนึ่งในสังคมไทย ในคำนำการจัดพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์โท พระยาอรรคนิธิ์นิยม (สมุย อาภรณ์ศิริ) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า ได้ต้นฉบับมนต์เหล่านี้เป็นฝีมือเขียนขึ้นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา มีทั้งหมด ๕ บท ได้แก่ มหาทิพมนต์ ชัยมงคล มหาชัย อุณหิสวิชัย และมหาสวํ (มหาสาวัง) การสวดมนต์เหล่านี้มีตัวอย่างคือ ในงานวันฉลองวันประสูติ เจ้านายจะตั้งเตียงในท้องพระโรง มีนักสวด ๔ คนสวดคาถามหาชัย และอุณหิสวิชัยตามทำนองโบราณ นอกจากนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงประทานความเห็นเกี่ยวกับอุณหิสวิชัยสูตรไว้ในลายพระหัตถ์ทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๘๒ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า 

 

“...ได้อ่านตรวจหนังสือมหาทิพมนต์โดยถี่ถ้วนตลอดแล้ว ในหนังสือนั้นมีมนต์ ๕ บท คือ ๑ มหาทิพมนต์ ๒ ชัยมงคล ๓ มหาชัย ๔ อุณหิสวิชัย ๕ มหาสาวัง สี่บทอันออกชื่อก่อนนั้นแต่งเป็นฉันท์ แต่บทที่สุดนั้นแต่งเป็นปาฐ มีคำแปลเป็นภาษาไทย แต่บทต้นบทเดียวแต่งเป็นกลอนสวด ใน ๕ บทนั้น เห็นอุณหิสวิชัยดีกว่าเพื่อน เป็นของผู้รู้แต่ง แต่งเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งเอาอะไรมาประกอบก็ดีด้วย...”

 

      *คำว่า “พุทธันดร” หมายถึง ช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา คือ ช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นไป และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ 

(อ้างอิงจาก ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖. หน้า ๘๕๙ )

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. มหาทิพมนต์ : ความสืบเนื่องของบทพระพุทธมนต์ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๖๒.

ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมามหายาน. กรุงเทพฯ: อักษรสมัย, ๒๕๔๓.

เสถียร โพธินันทะ. กระแสพุทธธรรมมหายาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.

องค์การค้าของคุรุสภา. สาสน์สมเด็จเล่ม ๖ ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: คุรุสภา, ๒๕๐๕.

Trilok Chandra & Rohit Kumar. Gods, Goddesses & Religious symbols of Hinduism, Buddhism & Tantrism. Lashkar: M.Devi, 2014.

(จำนวนผู้เข้าชม 8011 ครั้ง)