กบลายคราม
สมัยล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
ได้มาจากโบราณสถานวัดปางไม้ บ้านเสลี่ยม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กบดินเผาเคลือบ ตัดเส้นสีครามบนพื้นขาว ภายในกลวงเจาะรูวงกลมบริเวณปากและกลางสันหลัง สันนิษฐานว่าใช้ใส่น้ำสำหรับฝนหมึกจีน ตามประวัติซึ่งนายมานิต วัลลิโภดม (ขณะเป็นภัณฑารักษ์พิเศษ กองโบราณคดี กรมศิลปากร) ว่าได้มาจากวัดปางไม้ และกำหนดอายุสมัยว่าเป็นงานศิลปกรรมจีน ราชวงศ์หมิงตอนปลาย
กบลายคราม เป็นหนึ่งในตัวอย่างโบราณวัตถุที่สะท้อนถึงการติดต่อระหว่างเมืองในอาณาจักรล้านนากับจีนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ เนื่องจากพบเครื่องถ้วยลายครามและเครื่องถ้วยลายเขียนสีศิลปะจีนตามโบราณสถาน ในเมืองฮอด (อำเภอฮอด) หลายชิ้น ภาชนะบางชิ้นมีตัวอักษรระบุที่ก้นภาชนะตรงกับรัชสมัยพระเจ้าจาจิ้ง (พ.ศ. ๒๐๖๕-๒๑๑๐) แห่งราชวงศ์หมิง
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองฮอดนั้นอยู่ริมแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ติดต่อกับบ้านเมืองพื้นที่ตอนใน (บริเวณจีนตอนใต้) และเมืองชายฝั่งบริเวณอ่าวเมาะตะมะ กล่าวคือ หากเดินทางจากเมืองฮอดขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านเมืองเชียงใหม่ เชียงราย จะเป็นเส้นทางที่ไปยังกลุ่มเมืองทางจีนตอนใต้ มีเมืองสำคัญเช่น เมืองต้าหลี่ (Dali City) ในมณฑลยูนนาน และจากเมืองฮอดไปทางทิศตะวันตกเป็นเส้นทางไปสู่เมืองระแหงถึงเมืองเมาะตะมะ และลงทิศใต้ไปสู่กลุ่มเมืองทางใต้ล้านนาลงไป มีเมืองสำคัญคือเมืองอยุธยา ซึ่งมีหลักฐาน เช่น “โคลงมังทรารบเชียงใหม่” (แต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๑๕๘) ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองฮอดว่าอยู่ริมแม่น้ำปิง และเป็นจุดจอดเรือเพื่อรับส่งสินค้า ดังความว่า
เพราะเรือยุธิเยศค้า เทียวเทิง
มีกาดแกมรีเลิง ชู่มื้อ
ชาวเชียงหลั่งไหลเถิง เมืองหอด เรียมเอย
สนุกสนั่นขายแล้วซื้อ พร่องถ้านเป็นเสฏฐี ฯ
ความตอนนี้ถอดความได้ว่า “เพราะเหตุว่าพ่อค้าเรือทางอยุธยาขึ้นมาค้าขายถึง จึงมีตลาดสดขายของตลอดวันทุกวัน ชาวเชียงใหม่พากันมาถึงเมืองหอด (ฮอด) ซื้อขายกันเป็นที่สนุกพลุกพล่าน บางคนถึงขั้นเป็นเศรษฐี ฯ”
อ้างอิง
กรมศิลปากร. สมบัติศิลปจากบริเวณเขื่อนภูมิพล. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แพร่การช่าง. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายนกยูง พงษ์สามารถ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘).
ณัฏฐภัทร จันทวิช. เครื่องถ้วยจีน ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๗.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, ๒๕๕๑.
ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่ นายสิงฆะ วรรณสัย ทอดความเป็นภาษาไทยปัจจุบัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๕, จาก: https://vajirayana.org/โคลงเรื่อง-มังทรารบเชียงใหม่/๏.
(จำนวนผู้เข้าชม 607 ครั้ง)