เคียวคร่ำเงิน
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๖
โครงการศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ยืม
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เคียวเหล็ก ตกแต่งด้วยเทคนิคการคร่ำ คือการนำเงินฝังลงไปในเนื้อโลหะ (ซึ่งเรียกวิธีเช่นนี้ว่า “คร่ำเงิน”) ตกแต่งลวดลายตั้งแต่ด้ามจับจรดปลายใบมีด ลักษณะเป็นลายพันธุ์พฤกษาลวดลายอย่างเทศ
เทคนิคการคร่ำของช่างไทย เป็นการตกแต่งโลหะประเภทเครื่องใช้ หรือเครื่องอาวุธ เช่น กรรไกร ตะบันหมาก ดาบ ง้าว ปืน ฯลฯ ด้วยการทำผิวโลหะให้เป็นรอย ด้วยการตอกสิ่วสับลายตัดกันจนผิวโลหะมีลักษณะขรุขระ จากนั้นจึงใช้เส้นทอง หรือ เงิน ตอกลงบนผิวโลหะ เป็นลวดลายตามที่ต้องการแล้วจึงกวด*ผิวให้ลายคมชัด ทั้งนี้ช่างที่ทำการคร่ำต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้เหงื่อโดนผิวโลหะ เพราะจะทำให้เกิดสนิมขึ้นที่เนื้อโลหะและทำให้ตอกเส้นทองหรือเงินไม่ติดกับผิวโลหะ
งานคร่ำ เป็นงานหัตถกรรมที่แพร่หลายในตะวันออกกลาง ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ต่อมาแพร่เข้าสู่กลุ่มประเทศทางยุโรปหลายแห่ง ได้แก่ ประเทศอิตาลีในพุทธศตวรรษ ๒๑ ประเทศสเปนและฝรั่งเศสในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกเทคนิคคร่ำว่า “Damascne” น่าจะมีที่มาจากเทคนิคการทำโลหะของช่างจากเมืองดามัสกัส (Damascus) เมืองหลวงของประเทศซีเรีย* ต่อมาวิธีดังกล่าวคงแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางชาวอินเดียหรือชาวตะวันตก และเป็นที่รู้จักตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงการใช้ “ปืนจ่ารงคร่ำทอง” เมื่อครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถยกทัพไปตีเมืองตะนาวศรี พ.ศ. ๒๑๒๙ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ให้ฝรั่งแม่นปืน จุดจ่ารง คร่ำทองท้ายที่นั่ง ๓ บอกไล่กันเป็นสำคัญ” ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ปรากฏตำแหน่ง “ช่างคร่ำ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๔๒ หมู่งานช่างในพระราชบัญญัติเรื่องการไถ่ตัวไพร่หลวงที่เป็นทาส (พ.ศ. ๒๓๙๕) และในสมัยรัชกาลที่ ๕ หนังสือ “อักราภิธานศรับท์” ของ หมอแดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้นิยามคำว่า “คร่ำ” ไว้ว่า
คร่ำ คืออาการช่างอย่างหนึ่ง, เหมือนคนเอาเงินบ้าง, ทองบ้าง, ตอกลงไปที่มีดบ้าง, ของคนอื่นบ้าง, ให้ติดเปนรูปต่าง.
กรรมวิธีการคร่ำโลหะนั้นนับว่ามีกรรมวิธีที่ซับซ้อน และต้องอาศัยทักษะเชิงช่างชั้นสูงเพื่อให้ได้ลวดลายที่งดงาม สมดุลกับชิ้นงาน ดังนั้นงานคร่ำจึงเป็นหนึ่งในงานประณีตศิลป์ที่ทำขึ้นได้ยาก จบแทบจะสูญหายไปจากสังคมไทย กระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเห็นคุณค่าของงานช่างแขนงนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายสมาน ไชยสุกุมาร เจ้าพนักงานภูษามาลา กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง มาสอนวิชาการทำคร่ำแก่นักเรียนศิลปาชีพ เสมือนเป็นการต่อลมหายใจกับงานช่างแขนงนี้ได้คงอยู่คู่กับสังคมไทยมาถึงปัจจุบัน
*กวด (กริยา) หมายถึง ทําให้แน่น ให้ตึง หรือให้เขม็งยิ่งขึ้น เช่น กวดเชือก กวดตะปู เร่งรัดให้ดียิ่งขึ้นหรือเพื่อให้ทัน เช่น กวดวิชา วิ่งกวด. น. เหล็กเครื่องมือสําหรับกวดเลี่ยมขอบภาชนะ เรียกว่า เหล็กกวด
[ที่มา: ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖. หน้า ๘๓]
**ปัจจุบันในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง ยังคงมีการคร่ำโลหะอยู่เช่นกัน เพียงแต่ใช้เครื่องมือไฟฟ้าแทนการคร่ำด้วยมือแบบโบราณ
อ้างอิง
ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. โลหศิลป์ ณ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 886 ครั้ง)