...

กลองมโหระทึก

      สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว)

      นายห่วง มงคล ขุดได้ที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอบางโพธิ์ (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองอุตรดิตถ์) จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งมาให้พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐

ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องก่อนประวัติศาสตร์ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       กลองมโหระทึก สัมฤทธิ์ รูปทรงกลองแบ่งออกเป็นสามส่วนอย่างชัดเจน ส่วนหน้ากลองผายออกแล้วสอบลง กึ่งกลางหน้ากลองเป็นลายดาวหรือดวงอาทิตย์ ๑๐ แฉก ล้อมรอบด้วยเส้นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ช่องว่างแต่ละชั้นมีลวดลายประดับ คือ ลายบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนก ลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา และลายซี่หวี ตามลำดับ ขอบหน้ากลองประดับหอยโข่งสัมฤทธิ์ ๔ ตัว ส่วนตัวกลองทรงกระบอก ตกแต่งผิวเป็นลายซี่หวีและลายวงกลม หูกลองตกแต่งลวดลายคล้ายลายรวงข้าว ติดเป็นคู่อยู่ ๔ ด้านของกลอง และส่วนฐานกลองผายออก เรียบไม่มีลวดลายใด ๆ 

      รูปทรงและลวดลายของกลองมโหระทึกใบนี้จัดอยู่ในประเภทกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I)* ซึ่งกำหนดอายุได้ตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สันนิษฐานว่ากลองมโหระทึกใช้ตีประโคมในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์และความตาย กล่าวคือหอยโข่งที่ประดับอยู่บนขอบกลองนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ โดยหอยโข่งเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ เช่นเดียวกับกบหรือคางคกซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำหรือฝน ขณะเดียวกันรูปบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนก สะท้อนถึงการแต่งกายสำหรับประกอบพิธีกรรม หรือสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่ทางสังคมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ลายนกที่บินวนรอบดวงอาทิตย์หรือลายแฉกกึ่งกลางกลองนั้น ยังเป็นลวดลายหลักของกลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son Culture) ทางเวียดนาม

       แม้กลองมโหระทึกประดับหอยสัมฤทธิ์ที่หน้ากลองจะไม่พบอย่างแพร่หลายมากนัก แต่ยังมีชิ้นส่วนหน้ากลองมโหระทึกประดับหอยโข่งอีกชิ้นเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต ในทางตรงกันข้ามมีกลองมโหระทึกอีกหลายใบที่ด้านข้างตัวกลองประดับหอยโข่งสัมฤทธิ์ร่วมกับสัตว์อื่น  แมลง ช้าง เป็นต้น มีตัวอย่างคือ กลองมโหระทึกประเภท เฮเกอร์ ๓ (Heger III) ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

      สำหรับพื้นที่ที่มีการขุดพบกลองมโหระทึกใบนี้ พร้อมทั้งโบราณวัตถุสัมฤทธิ์ต่าง ๆ มีประวัติกล่าวว่าขุดพบที่ม่อน (หรือเนินเขาเตี้ย ๆ) บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลจังหวัดอุตรดิตถ์ และวัดเกษมจิตตาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งต่อมาได้นำไปจัดแสดงในงานประจำปีวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตำบลทุ่งยั้ง ครั้นเมื่อทางราชการได้ไปตรวจพบจึงได้อายัดและส่งเข้ามาที่กรุงเทพฯ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐

 

       *การกำหนดรูปแบบกลองตามความเห็นของ Franz Heger ที่กำหนดกลองมโหระทึกไว้ ๔ ประเภท คือ เฮเกอร์ ๑-๔ (Heger I - IV) โดยกำหนดให้กลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I) เป็นรูปแบบเก่าที่สุดในบรรดากลองมโหระทึกทั้ง ๔ ประเภท

 

อ้างอิง

พิเชฐ สายพันธ์. มานุษยวิทยาอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๖๔.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี: ไทยภุมิ พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๕.

เมธินี จิระวัฒนา. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.

“แจ้งความราชบัณฑิยสภา.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๔๔ ตอน ๐ง (วันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๗๐): ๓๙๑๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 2112 ครั้ง)


Messenger