...

ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

       ศิลปะรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๖๕

       ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องไม้จำหลัก มุขเด็จทิศตะวันตก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       เดิมเป็นบานประตูคู่กลางด้านหน้าพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม พระอารามหลวงกลางเมืองกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงมีส่วนร่วมในการจำหลักด้วยพระองค์เอง ประตูจำหลักจากไม้แผ่นเดียวคว้านผิวลึกลงเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาตวัดเกี่ยวกันคล้ายกำลังเคลื่อนไหว สอดแทรกรูปสรรพสัตว์นานาพันธุ์ ลงรักปิดทองฝีมือประณีตงดงามอย่างยิ่ง ต่อมาในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ เกิดไฟไหม้บานประตูชำรุดบานหนึ่ง จึงได้นำบานประตูคู่กลางด้านหลังมาใส่ไว้แทน และถอดบานประตูเดิมนี้ออกเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์ ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒  ส่วนของเชิงอรรถ ความว่า

“ลายสลักบานพระวิหารวัดสุทัศน์ สลักดีไม่มีที่ไหนเหมือน ยังเปนของควรชมอยู่จนทุกวันนี้ มีคำเล่ากันสืบมาว่า ช่างที่สลักบานพระวิหารวัดสุทัศน์นั้น เมื่อทำการเสร็จแล้ว ประสงค์จะไม่ให้ใครทำได้เหมือนต่อไป จึงเอาเครื่องมือทิ้งน้ำเสียหมด ความข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ แต่มีความจริงอย่าง ๑ ซึ่งปรากฏในรัชกาลหลังต่อมา มีพระราชประสงค์จะทำบานอย่างพระวิหารวัดสุทัศน์ไปใช้ในที่อื่น ไม่มีช่างที่จะรับทำให้เหมือนได้”

(จำนวนผู้เข้าชม 5657 ครั้ง)


Messenger