กลองสำหรับพระนคร
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ (๒๐๐ ปีมาแล้ว)
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศัสตราวุธ พระที่นั่งบูรพาภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กลองทั้งสามใบนี้แต่เดิมอยู่ที่หอกลองประจำเมืองกรุงเทพฯ ที่สวนเจ้าเชตุ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) หอกลองมี ๓ ชั้น ชั้นล่าง “กลองย่ำพระสุริย์ศรี” ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณย่ำรุ่ง-ย่ำค่ำ เวลาเปิดปิดประตูเมือง ชั้นกลาง “กลองอัคคีพินาศ” ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเมื่อเกิดอัคคีภัย และกลองชั้นสุดบน “กลองพิฆาตไพรี” ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเมื่อมีข้าศึกมาประชิดเมือง
เมื่อมีการใช้นาฬิกาแพร่หลายพ้นสมัยการตีกลองให้สัญญาณ จึงย้ายกลองทั้งสามใบนี้ไปยังหอนาฬิกาศาลสถิตยุติธรรม และหอนาฬิกาศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมตามลำดับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถาน
ทั้งนี้จากตำรายันต์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ระบุถึงยันต์และหนังสัตว์ที่ขึงหน้ากลองว่า กลองชั้นล่าง “ย่ำพระสุริย์ศรี” ขึงหนังกระบือ กลองชั้นกลาง “อัคคีพินาศ” ขึงหนังโค และกลองชั้นบน “พิฆาตไพรี” ขึงหนังหมีและหนังเสือ
(จำนวนผู้เข้าชม 1721 ครั้ง)