...

แผ่นศิลารูปพระไภษัชยคุรุ
     
     ศิลปะลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙)
     พบที่โบราณสถานวัดพระพายหลวง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
     ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
     แผ่นศิลารูปพระไภษัชยคุรุ วัสดุหินทราย ลักษณะเป็นแผ่นรูปทรงแหลมคล้ายกลีบบัว สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นบรรพแถลง หรือ กลีบขนุนประดับส่วนเรือนชั้นซ้อนของปราสาทวัดพระพายหลวง รูปพระไภษัชยคุรุทั้งสามมีรูปแบบที่เหมือนกันคือ อุษณีษะทรงกรวย พระพักตร์เหลี่ยม พระวรกายท่อนบนไม่แสดงการครองจีวร แสดงปางสมาธิ (ธยานมุทรา) พระหัตถ์ขวาแสดงวัตถุที่อาจหมายถึงหม้อน้ำอมฤตหรือตลับยา ประทับขัดสมาธิราบ อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วที่มีลักษณะเป็นซุ้มคดโค้งประดับใบระกา ส่วนปลายซุ้มเป็นรูปนาคประดิษฐ์
     พุทธลักษณะบางประการที่แตกต่างกันคือ อุษณีษะทรงกรวยของแต่ละองค์มีเครื่องประดับแตกต่างกัน เช่น รัดด้วยเม็ดลูกประคำ หรือประดับกลีบบัว รูปแบบของพระเกศาพบทั้งแบบเม็ดพระศก แบบเรียบโล้นและแบบถักเป็นลอนรวบขึ้น อีกทั้งรูปแบบของพระเนตรพบทั้งแบบพระเนตรเปิดมองตรง ที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรแบบนครวัด และพระเนตรปิดที่สืบทอดจากรูปแบบของศิลปะเขมรแบบบายน โดยภาพรวมรูปสลักพระไภษัชยคุรุ จึงเป็นงานที่แสดงฝีมือช่างท้องถิ่น คล้ายกับกลุ่มพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘-กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และแตกต่างไปจากรูปแบบของพระพุทธรูปในศิลปะเขมร
     ความสำคัญของพระไภษัชยคุรุ คือพระพุทธเจ้าผู้ทรงขจัดโรคภัยทางกายและทางใจของมนุษย์ เป็นรูปเคารพทางฝ่ายพุทธศาสนามหายานแพร่หลายในประเทศจีน ธิเบต ญี่ปุ่น และกัมพูชา สำหรับพระไภษัชยคุรุทั้งสามชิ้นนี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการแพร่กระจายทางพุทธศาสนามหายานจากเมืองพระนครมาสู่พื้นที่ลุ่มน้ำยม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตรงกับช่วงรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ด้วยพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานเป็นศาสนาหลัก ทรงสร้างอโรคยศาล (สถานพยาบาล) ไว้หลายแห่ง ดังนั้นจึงปรากฏประติมากรรมพระไภษัชยคุรุในช่วงเวลานี้เป็นจำนวนมากตามชุมชนที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการรับวัฒนธรรมเขมรสมัยบายน พบพระไภษัชยคุรุทั้งงานประติมากรรมศิลา ปูนปั้นและสำริด
     บริเวณทิศเหนือของเมืองเก่าสุโขทัยปรากฏร่องรอยของชุมชนที่ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยมีศาสนสถานสำคัญคือ พระปรางค์วัดพระพายหลวง เชื่อว่าสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนามหายาน และแผ่นศิลารูปพระไภษัชยคุรุกลุ่มนี้บางส่วนจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
 
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระไภษัชยคุรุ พระพุทธเจ้าบรมครูแห่งโอสถ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๓.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ลพบุรี หลังวัฒนธรรมเขมร. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๙.
 

(จำนวนผู้เข้าชม 1037 ครั้ง)


Messenger