...

พระอินทร์และพระชายา

         

         ศิลปะล้านนา  ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕

         เป็นของอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  มาแต่เดิม

         ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         ประติมากรรมโลหะรูปพระอินทร์และพระชายา ประทับอยู่บนช้างเอราวัณ มีลักษณะสำคัญคือ พระอินทร์ทรงกรัณฑมงกุฎ กึ่งกลางกระบังหน้าประดับดอกไม้สี่กลีบ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระกรรณประดับกุณฑล พระวรกายประดับสร้อยสังวาลและทับทรวง พระพาหาทรงพาหุรัด ข้อพระหัตถ์ทรงทองพระกร พระหัตถ์ขวาทรงถือจักร พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระเพลาของพระชายา  ทรงพระภูษายาวจรดข้อพระบาท ชักชายผ้าด้านหน้าสั้น ชายผ้าด้านข้างแยกออกเป็นสองชาย ประทับขัดสมาธิราบ เครื่องทรงและอาภรณ์ของพระอินทร์เป็นรูปแบบการแต่งกายของเทวดาที่จะพบได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมล้านนา-สุโขทัย 

         ส่วนพระชายา ทรงกรัณฑมงกุฎ พระพักตร์กลม พระกรรณประดับกุณฑลแผ่นกลมขนาดใหญ่ ทรงฉลองพระองค์ตัวในเป็นเสื้อป้ายข้างเฉียงซ้ายมาขวา ทับด้วยพระภูษาคลุมสองพระอังสา ชายผ้าพลิ้วไหวไปทางด้านหลัง ทรงคว่ำพระหัตถ์ขวาบนพระเพลาของพระอินทร์ พระนางทรงภูษายาวจรดข้อพระบาท ประทับอยู่ในท่าพับเพียบ ทั้งนี้เครื่องอาภรณ์ของชายาของพระอินทร์ก็มีรูปแบบการแต่งกายคล้ายกับการแต่งกายของสตรีล้านนา ที่นิยมสวมต่างหูขนาดใหญ่ เรียกว่า "ลานหู"  สวมเสื้อป้าย และมีผ้าคลุมไหล่ทั้งสองข้าง คล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์ไต ในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย  เช่นกัน

         แม้ว่าประติมากรรมรูปพระอินทร์และพระชายานี้ จะไม่มีประวัติที่มาชัดเจน แต่จากเทคนิคการหล่อที่ใช้ดินผสมแกลบปั้นโกลนหุ่นเช่นเดียวกับศิลปกรรมล้านนา ต่างกับเทคนิคการหล่อในสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ ที่ใช้ดินผสมทราย รวมถึงลักษณะการแต่งกายของประติมากรรม จึงกำหนดได้ว่ารูปพระอินทร์และพระชายานี้สร้างขึ้นในวัฒนธรรมล้านนา

         รูปแบบของพระอินทร์ทรงจักร มีปรากฏในอรรถกถาเกฬิสีลชาดก กล่าวถึงพระอินทร์เสด็จมาปรามกษัตริย์ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนแก่ราษฎร์ มิเช่นนั้นกษัตริย์จะต้องถูกสังหารด้วยจักรของพระองค์ ขณะเดียวกันในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้กล่าวว่าพระอิศวรทรงประทานจักรให้แก่พระอินทร์เพื่อใช้ในการรบกับรณพักตร์ หลักฐานด้านศิลปกรรมพระอินทร์ทรงจักรนี้พบมากในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งในสมุดไทยดำเรื่องตำราเทวรูป (เลขที่ ๖๙) และ พระอินทร์ทรงจักรที่ชั้นเรือนธาตุของพระปรางค์ประธาน วัดอรุณราชวราราม

         สำหรับในวัฒนธรรมล้านนา นอกเหนือจากเรื่องราวทางพุทธประวัติที่พระอินทร์มีความเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ใน “ปัญญาสชาดก” ซึ่งเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่รวบรวมขึ้นจากนิทานพื้นบ้านของล้านนา ได้กล่าวถึงพระอินทร์ช่วยเหลือพระโพธิสัตว์ไว้อยู่หลายตอน เช่น สุวัณณสังขชาดก กล่าวถึง พระอินทร์ลงมาตีคลีกับพระสังข์ เพื่อให้พระสังข์ถอดรูปเงาะและช่วยให้ท้าวสามลยอมรับพระสังข์ หรือในคัทธนกุมารชาดก กล่าวถึงพระอินทร์ทรงเป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ในตำนานท้องถิ่น เช่น ตำนานพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง ได้กล่าวถึงพระอินทร์แปลงกายเป็นชายชรา มาอาสาแกะสลักก้อนพระผลึกของนางสุชาดาเป็นพระแก้วขึ้นมา

 

อ้างอิง 

ศานติ ภักดีคำ. พระอินทร์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๖.   

ศรัณย์ มะกรูดอินทร์. พระอินทร์ในคติพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่พบในงานศิลปกรรมไทย. วิทยานิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศิลปากร, ๒๕๕๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 2421 ครั้ง)


Messenger