พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕
ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕
เป็นสมบัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาแต่เดิม
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระรัศมีรูปดอกบัวตูม ขนาดใหญ่ ไม่ปรากฏขมวดพระเกศา พระพักตร์แป้นใหญ่ ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ ยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเท่ากัน ด้านหน้าพระเพลาปรากฏชายผ้าจีวรและสบงซ้อนกันออกมาสองข้าง ส่วนฐานเรียบไม่มีลวดลาย
พระพุทธรูปองค์นี้ทำมาจากยางไม้ที่เรียกว่า อำพัน หรือ กาเยน ที่มีสีแดงเรียกว่า “อำพันประพาฬ” จัดอยู่ในประเภทอินทรียวัตถุที่เป็นรัตนชาติ เป็นทรัพยากรที่พบมากในพื้นที่ประเทศพม่า ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานความเห็นเอาไว้ในลายพระหัตถ์ตอบ พระยาอนุมานราชธน ลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ความว่า
“กาเยน เขาว่าเปนยางไม้ชนิดหนึ่ง จะเกิดจะมีที่ไหน ไม่ทราบ เห็นทำเปนพระพุทธรูปและลูกประคำมาแต่เมืองพะม่าเนืองๆ สีเหลืองแก่ น้ำคล้ายแก้ว ถ้าจะเปรียบให้ใกล้ก็คล้ายซ่นกล้องเมชอม*ชนิดที่ใส ซึ่งเราเรียกว่า อำพัน หรือลางทีจะเปนสิ่งเดียวกันด้วยซ้ำไป”
ชื่อเสียงของอำพันเมืองพม่านั้นยังถูกกล่าวถึงใน “พระราชพงศาวดารพม่า” พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พ.ศ. ๒๔๕๖) ทรงนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับอำพันในเมืองพม่าว่า เป็นแร่ที่อยู่ในพื้นดินบริเวณที่ซากไม้ทับถมกัน วิธีค้นหาแร่คือการขุดดินลึกลงไปประมาณ ๗ วา อำพันของพม่านั้นมีคุณสมบัติดีอยู่ ๓ ประการคือ มีความแข็ง ตัดหรือขัดง่ายและทนทานไม่ละลายง่าย ในพม่านิยมนำอำพันมาทำเป็นสร้อยลูกประคำ ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่นิยมในสยามเช่นกัน ดังพระนิพนธ์ความตอนหนึ่งว่า “...ในกรุงสยามก็ใช้อำพันประพาฬพม่าเป็นลูกคั่นปะหล่ำสำหรับผูกรอบข้อมือเด็กครั้งโบราณแต่ใช้สีแดง...” นอกจากนี้อำพันยังนำมาใช้สร้างพระพุทธรูปขนาดเล็กในศิลปะพม่าอีกด้วย
*น่าจะหมายถึง กล้องเมียร์ชอม เป็นกล้องยาสูบประเภทหนึ่ง หัวกล้องมีลวดลายอย่างตะวันตก
อ้างอิง
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา. บันทึกความรู้เรื่องต่าง ๆ เล่ม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป, ๒๕๕๒.
นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม ๖. กรุงเทพฯ: องค์การค้า คุรุสภา, ๒๕๐๔.
____________. พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม ๗. กรุงเทพฯ: องค์การค้า คุรุสภา, ๒๕๐๔.
___________________________________
หมายเหตุ
พจานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายของคำว่ากาเยน ประพาฬ และอำพัน ไว้ว่า
กาเยน หมายถึง ยางไม้ชนิดหนึ่ง สีเหลืองแก่ใสคล้ายแก้ว
ประพาฬ หมายถึง รัตนะ (แก้ว) ชนิดหนึ่ง สีแดงอ่อน เกิดจากหินปะการังใต้ทะเล
อำพัน หมายถึง ยางไม้ที่แข็งเป็นก้อน สีเหลืองใสเป็นเงา
(จำนวนผู้เข้าชม 1977 ครั้ง)