ฉากไม้ลงรักประดับมุกภาพพุทธประวัติ หนึ่งในโบราณวัตถุจากหอคองคอเดีย
วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เนื่องด้วย พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเครื่องราชบรรณาการ และวัตถุสะสมส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเดิมเก็บรักษา ณ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ มายัง “หอคองคอเดีย” โรงทหารที่อยู่ด้านตะวันตกหรือด้านหลังของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ปัจจุบันรู้จักในนาม “ศาลาสหทัยสมาคม” และเปิดให้สาธารณชนชมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๑๗ และนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย บรรดาวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในหอคองคอเดียนั้นยังรวมถึงวัตถุมีค่า ของแปลกหายาก วัตถุจากต่างประเทศ และงานประณีตศิลป์ชั้นสูง
โดยวัตถุที่น่าสนใจประเภทหนึ่งคือ งานเครื่องมุก หนึ่งในงานประณีตศิลป์ของศิลปะไทย ที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และสืบทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ งานเครื่องมุก เป็นงานที่ใช้เปลือกหอยทะเล นำมาฉลุเป็นลวดลายต่าง ๆ แล้วจึงใช้รักเป็นตัวเชื่อมมุกกับชิ้นงานที่ต้องการประดับ ส่วนมากการประดับมุกนั้นปรากฏในเครื่องเรือนต่าง ๆ เช่น ตู้พระธรรม หีบพระธรรม ภาชนะทรงต่าง ๆ ฝาประกับคัมภีร์ใบลาน ฯลฯ รวมถึงงานประดับสถาปัตยกรรมปรากฏบนบานประตูและหน้าต่าง
ในหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท เล่มที่ ๑ แผ่นที่ ๑๔ ฉบับวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ ได้กล่าวถึงวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในหอคองคอเดีย ในหัวข้อ “ความเจริญในกรุงสยาม” โดยระบุถึงเครื่องมุกชิ้นหนึ่ง จัดแสดงในห้องแรก (ห้องด้านทิศตะวันออกของหอคองคอเดีย) ดังความว่า “...แผ่นพระบฎิ์ประดับด้วยมุกเปนลวดลายอันวิจิตร...” สอดคล้องกับ “ว่าด้วยเครื่องแต่งตั้งในหอมิวเซียม” ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕ แผ่นที่ ๓๑ ฉบับวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ ได้กล่าวบรรยายว่าในห้องแรก “ที่ฝาผนังหลังตู้กระจกนั้นมีรูปพระพุทธเจ้าประดับมุกบาน ๑”
ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้าจึงว่างลงแล้วโปรดให้ย้าย “หอมิวเซียม” ที่ หอคองคอเดียมาตั้งแสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ทั้งนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีฉากไม้ลงรักประดับมุกภาพพุทธเจ้าที่ประวัติระบุว่าเป็นของพิพิธภัณฑสถานมาแต่เดิม ๒ รายการ คือ
๑. ฉากไม้ประดับมุกภาพพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้าประทานเทศนาแก่พระอสีติมหาสาวก ที่ฐานบัลลังก์ประดับบทสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อักษรขอม ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องกรุงรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
๒. ฉากไม้ลงรักประดับมุกภาพพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครวสาวก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องเครื่องมุก อาคารพระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ล่าง) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ฉากไม้แผ่นนี้กรมศิลปากรได้กำหนดเป็น “โบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ” อีกด้วย
ฉากไม้ลงรักประดับมุกภาพพุทธประวัติทั้งสองชิ้นยังมีประวัติว่าได้ถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการที่ต่างประเทศอยู่หลายวาระ กล่าวคือ ภาพลายเส้นห้องจัดแสดงเครื่องราชูปโภค ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนานาชาติ ณ ชังป์ เดอมารส์ (Champ-de-Mars) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ ปรากฏภาพลายเส้นฉากไม้แสดงภาพพุทธประวัติอยู่สองชิ้น
ในคราวนิทรรศการ Chicago’s World’s Columbian Exposition ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
มหกรรมแสดงสินค้าโลก ที่เมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ปรากฏฉากไม้ลงรักประดับมุก แสดงภาพพุทธเจ้าทั้ง ๒ แผ่น ที่ได้กล่าวไปในข้างต้นร่วมจัดแสดงอยู่ด้วย
ฉากไม้ลงรักประดับมุก พระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวก
ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔
เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครมาแต่เดิม ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องเครื่องมุก พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นล่าง) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ได้รับการคัดสรรเป็นโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ
ฉากไม้ประดับมุกภาพพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครวสาวกในซุ้มเรือนแก้ว พื้นหลังของพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกมีดอกไม้ร่วง เหนือเรือนแก้วประดับภาพเหล่าเทพยดาประนมกร สักการะพระพุทธองค์ท่ามกลางหมู่เมฆ ฉากประดับมุกนี้แสดงถึงความวิจิตรบรรจงของช่างไทยในการฉลุเปลือกหอยให้เป็นเป็นลวดลายชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนติดลงบนแผ่นไม้ แล้วใช้รักสมุกถมลงช่องว่างจนเกิดลวดลายสีขาวของเปลือกหอยตัดกับสีดำของยางรัก
รายละเอียดมุมฉากไม้ลงรักประดับมุก พระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวกแสดงภาพเหล่าเทพยดาประนมกร สักการะพระพุทธองค์ท่ามกลางหมู่เมฆ ลักษณะเมฆเป็นเส้นหยักโค้งคล้ายลายหรูอี้ในศิลปะจีน แทรกด้วยช่อดอกพุดตาน ส่วนบริเวณกรอบรูปเป็นแถบลายเกลียวใบเทศ
ฉากไม้ประดับมุกแสดงภาพพระพุทธเจ้าประทานเทศนาแก่พระอสีติมหาสาวก ที่ฐานบัลลังก์ประดับบทสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อักษรขอม จึงสะท้อนว่าฉากนี้แสดงภาพพระรัตนตรัย โดยพระธรรมนั้นแสดงด้วยยันต์เฑาะว์ ในเปลวไฟบนพระหัตถ์ขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พุทธลักษณ์ของพระพุทธเจ้าสะท้อนถึงพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔ ที่รูปพระพุทธองค์มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ทั่วไปมากขึ้นด้วยการไม่ปรากฏพระเมาลีเหนือพระเศียร
รายละเอียดมุมฉากไม้ลงรักประดับมุก ภาพพระรัตนตรัย แสดงภาพลายเครือเถาก้านขดใบเทศ หางหงส์ของซุ้มเรือนแก้วมีลักษณะแบบนกเจ่า ส่วนบริเวณกรอบรูปเป็นแถบลายเครือเถาใบเทศ
ภาพลายเส้น ห้องเครื่องราชูปโภค จัดแสดงในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนานาชาติ ณ ชังป์ เดอมารส์ (Champ-de-Mars) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐
(ที่มา : กรมศิลปากร. ๑๔๙ ปี ราชพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๔๙ หน้า ๒๓)
ภาพถ่ายซุ้มจัดแสดงของประเทศไทย ในงาน Chicago’s World’s Columbian Exposition ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖
(ที่มา : นายดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์)
ภาพถ่ายวัตถุจัดแสดงของสยามในงาน St. Louis World's Fair เมืองเซนต์หลุยส์ (St. Louis) รัฐมิสซูรี (Missouri) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗
(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
อ้างอิง
กรมศิลปากร. ๑๔๙ ปี ราชพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวง วัฒนธรรม, ๒๕๔๙.
___________. โบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ. กรุงเทพฯ: ไทภูมิ พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๑.
“ว่าด้วยเครื่องแต่งตั้งในหอมิวเซียม” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕ แผ่นที่ ๓๑ (วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ จ.ศ. ๑๒๔๐): หน้า ๒๓๕-๒๓๘.
วิสันธนี โพธิสุนทร. เครื่องมุก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิฆเณศ. (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ประกอบนิทรรศการพิเศษ เนื่อง ในงานเฉลิมพระเกียรติครบรอบวันประสูติ ๑๐๐ ปี จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๔).
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์. ดรุโณวาท เล่ม ๑. เข้าถึงเมื่อ ๑๕ กันยานน ๒๕๖๔. เข้าถึงได้จาก http://valuablebook2.tkpark.or.th/.../Daru.../flipbook1.html
(จำนวนผู้เข้าชม 2094 ครั้ง)