เหรา หนึ่งสัตว์หิมพานต์ประดับงานศิลปกรรมไทย
เหรา หนึ่งสัตว์หิมพานต์ประดับงานศิลปกรรมไทย
เหรา (อ่านว่า เห-รา) เป็นสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่ง มีประวัติว่า เหรา เป็นลูกของพญานาค และมีแม่คือมังกร ดังความที่ปรากฏในบทดอกสร้อย บทหนึ่ง กล่าวว่า
๏ เจ้าเอยเหรา รักแก้วข้าเหราเอ๋ย
บิดานั้นนาคา มารดานั้นเป็นมังกร
มีตีนทั้งสี่ หน้ามีครีบหลังมีหงอน
เป็นทั้งนาคทั้งมังกร เรียกชื่อว่าเหราเอย ฯ
กล่าวกันว่าเหรามีลักษณะคือ ส่วนหัวและตัวเป็นนาค มีเท้าและหนวดเป็นมังกร และมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เหราพต” อย่างไรก็ตามเอกสารบางฉบับกล่าวว่า ลักษณะของเหราในศิลปะไทยนั้นไม่ปรากฏ เขา หนวด และเครา อย่างมังกรจีน แต่กลับมีฟันหรือเขี้ยวคล้ายจระเข้ ดังนั้นเหราที่ปรากฏในงานศิลปกรรมไทยจึงน่าจะเป็นการผสมรูปแบบระหว่าง จระเข้ (ส่วนหัวและเท้า) กับนาค (ลำตัวและหาง) มากกว่า
ตัวเหรานั้นเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏชื่อเรือลำหนึ่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นามว่า เรือเหรา ปัจจุบันตัวเหรายังปรากฏในรูปแบบงานประติมากรรมประดับสถาปัตยกรรม เช่น ประติมากรรมเหราบริเวณราวบันได ประติมากรรมเหราประดับชั้นหลังคาส่วนปลายของสันตะเข้ ส่วนประกอบของซุ้มหน้าบัน บริเวณปลายของรวยระกา ที่เรียกว่า “รวยระกาเหรา”
สำหรับที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีตัวอย่างงานศิลปกรรมที่ปรากฏรูปจำหลัก “เหรา” ได้แก่
แผงพระพิมพ์ไม้
แผงพระพิมพ์ไม้ จำหลักลาย ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ จัดแสดงอยู่ที่ มุขเด็จในหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นงานจำหลักไม้รูปเหราคายนาคที่ส่วนปลายรวยระกาของกรอบหน้าบัน
ตู้พระธรรมขาหมูลงรักประดับมุก
ตู้พระธรรมขาหมูลงรักประดับมุก ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓ จัดแสดงอยู่ที่ มุขหน้าพระที่นั่งพรหมเมศธาดา ในหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ฝาตู้ด้านซ้ายมีงานประดับมุกรูปเหรา
พระวอ
พระวอ ศิลปะธนบุรี-รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ จัดแสดงอยู่ที่ พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร ในหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นงานไม้จำหลักรูปเหราคายนาค ส่วนปลายรวยระกาของชั้นหลังคาพระวอ
เขนง
เขนง (เครื่องเป่าบอกอาณัติสัญญาณในการศึก หรือภาชนะใส่ดินปืน) งาช้างจำหลักลายเหรา ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ จัดแสดงอยู่ที่ พระที่นั่งบูรพาพิมุข ในหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ลักษณะเป็นงาช้างจำหลักรูปเหราปรากฏส่วนหัว ลำตัวและเท้าของเหรา
อ้างอิง
กรมศิลปากร. สมุดภาพสัตว์หิมพานต์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๑.
สมคิด จิระทัศนกุล. อภิธานศัพท์ช่างสถาปัตยกรรมไทย เล่ม ๔ องค์ประกอบ “ส่วนหลังคา”. กรุงเทพฯ: คณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๙.
สมใจ นิ่มเล็ก. สรรพสัตว์ ในงานสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 24349 ครั้ง)