...

กากะเยีย

     สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔

     ไม้ขายาว ๕๐.๕ เซนติเมตร ไม้ขวางยาว ๔๔ เซนติเมตร

     สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานเมื่อ ปีชวด พ.ศ.๒๔๔๓

     กากะเยีย คือ อุปกรณ์สำหรับวางคัมภีร์ใบลาน  โดยทั่วไปทำจากไม้กลึง ๘ ชิ้น ร้อยเชือกหรือด้ายร้อยไม้ทั้ง ๘ อัน ให้เรียงไขว้กัน  เมื่อกางออกจะทรงเหมือนโต๊ะสี่เหลี่ยม  เป็นขาตั้ง ๔ ชิ้น และชิ้นที่ขวางด้านบน ๔ ชั้น  ไม้ชุดยาว ๔ อัน  ทำหน้าที่เป็นขาตั้ง ไขว้กัน  ส่วนเส้นเชือกซึ่งร้อยอยู่ที่ปลายไม้นั้น  จะขึงตึงขนานไปกับไม้ชุดสั้นทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งใช้รองรับใบลาน สำหรับกากะเยียอันนี้  กลึงจากงาช้างทั้งหมด แต่ละชิ้นใช้งาช้างต่อกัน ๓ ส่วน  ปลายแต่ละไม้กลึงตกแต่งเป็นหัวเม็ด

      การใช้กากะเยียลักษณะเป็นไม้ ๘ ชิ้นไขว้กัน ปรากฎมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว ที่ภาพสลักที่พนักกำแพงแก้วฐานประทักษิณชั้นที่ ๑ ของโบราณสถานบุโรพุทโธ ในชวาภาคกลาง ประเทศอินโดนีเซีย  สำหรับในประเทศไทย จากศิลาจารึกวัดเขมา เมืองสุโขทัย ระบุพ.ศ. ๒๐๗๙ ในด้านที่ ๑ กล่าวถึงเจ้าเทพรูจีพร้อมสัตบุรุษได้บำเพ็ญกุศล ตอนหนึ่งความว่า “กากะเยียผืนหนึ่งค่าหกบาท อำแดงกอนซื้อไว้รองพระธรรมคัมภีร์...” ซึ่งระบุชัดว่า “กากะเยีย” มีหน้าที่สำหรับใช้รองคัมภีร์ใบลานโดยเฉพาะ และมีลักษณะนามเป็น “ผืน” 

     สำหรับประวัติของกากะเยียงานี้  จากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ราชเลขาธิการในพระองค์ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓)  ว่าด้วยสิ่งของที่มีผู้ถวายในการตั้งหอพุทธศาสน์สังคหะ วัดเบญจมบพิตร ความตอนหนึ่งว่า 

“ของที่ได้วันนี้คือ กรมหมื่นวชิรญาณ ให้...กากะเยียงาเปนของกรมสมเด็จพระปรมานุชิต พระปิฎกโกศล องค์ไหนไม่รู้  ให้ลูกชายใหญ่ [สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร] เมื่อบวชเณร  เมื่อลูกชายใหญ่จะสึกได้มอบถวายกรมหมื่นวชิรญาณไว้...” 

     ภายหลังเมื่อยุบรวมหอพุทธศาสน์สังคหะกับหอพระมณเฑียรธรรม ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนครแล้ว วัตถุบางส่วนจึงได้นำมาเก็บรักษา ณ หอมิวเซียม หรือปัจจุบันก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ที่มาข้อมูล

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. ประมวลเอกสารสำคัญเนื่องในการสถาปนา วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, ๒๕๓๘.

อุไร คำมีภา, “กากะเยีย อุปกรณ์สำหรับรองรับคัมภีร์ใบลาน” เพจหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียติ ร.๙ นครราชสีมา (ออนไลน์)

(จำนวนผู้เข้าชม 2293 ครั้ง)