ปราสาทหนองหงส์ – ปราสาทเขาโล้น บนเส้นทาง... ช่องตะโก
ปราสาทหนองหงส์ – ปราสาทเขาโล้น บนเส้นทาง... ช่องตะโก
ช่องตะโกเป็นหนึ่งในช่องเขาระหว่างแนวเทือกเขาบรรทัด ที่ถูกใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างชุมชนที่ราบสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กับ ชุมชนพื้นที่ราบในเขตจังหวัดสระแก้ว ประเทศไทยและชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา จากภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าทั้งปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่บนเส้นทางของช่องตะโก โดยแต่ละแห่งมีรายละเอียดดังนี้
ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่บนพื้นราบในพื้นที่หมู่ ๙ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ลักษณะเป็นปราสาทก่ออิฐตั้งเรียงกันสามหลังบนฐานไพที ปราสาททั้งสามหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าปราสาทองค์ทิศใต้มีอาคารบรรณาลัยตั้งอยู่ รูปแบบศิลปกรรมปราสาทแห่งนี้ตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว)
ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่บนเขาลูกโดด เตี้ยๆ ในเขตตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ลักษณะเป็นปราสาทก่ออิฐตั้งเรียงกันสามหลังบนฐานไพที ปราสาททั้งสามหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าปราสาท มีอาคารบรรณาลัยตั้งอยู่ หลักฐานที่สำคัญในการกำหนดอายุปราสาทแห่งนี้คือจารึกที่กรอบประตู ปรากฏศักราชตรงกับ ปี พ.ศ. ๑๕๕๙ จึงกำหนดอายุปราสาทแห่งนี้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน (ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว)
นอกจากนี้จากการสำรวจของกรมศิลปากร พบว่ามีร่องรอยของแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ที่พบใกล้เคียงกับช่องตะโกทั้งพื้นที่อำเภอโนนดินแดง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว กล่าวคือ ในพื้นที่อำเภอโนนดินแดงพบแหล่งตัดหินบ้านโคกขี้เหล็ก และปราสาทหนองบัว ถัดออกไปในพื้นที่อำเภอปะคำ พบปราสาทขอมหลายแห่ง เช่น ปราสาทโคกงิ้ว ปราสาทหนองตาสี ส่วนในพื้นที่อำเภอตาพระยา เช่น แหล่งตัดหินสระเพลง เนินโบราณสถานโคกบัลลังก์ เนินโบราณสถานหนองแท่น และ เนินโบราณสถานหนองไผ่ล้อม
เส้นทางช่องเขาตะโก ยังคงเป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรอย่างต่อเนื่อง จากแผนที่เดินทัพสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ระวางนี้มีชื่อว่า “เขมรในนี้” (Khmer Nai Ni) ซึ่งเป็นแผนที่แสดงเส้นทางเดินทัพจากกรุงเทพฯ ไปถึงกัมพูชา จัดทำขึ้นในช่วงรัชกาล ที่ ๑–๓* ปรากฏเส้นทางจากเมืองนางรองลงมาทางทิศใต้ แยกเป็น ๒ เส้นทาง โดยเส้นทางหนึ่งผ่านช่องตะโกใกล้กับเขาวงมายังบ้านไทละออ บ้านช่องกุ่ม มีเส้นทางต่อลงไปยังหนองสาลิกา** ใกล้กับด่านพระจารึก ส่วนอีกเส้นทางผ่านชุมชนกระแหนะ ตาอิ่ม ลงมายังวัด “พุธไทสมัน” (สันนิษฐานว่าคือปราสาทบันทายมาร์) ดังนั้นเส้นทางนี้น่าจะเป็นเส้นทางช่องตากิ่วในปัจจุบัน
เส้นทางช่องตะโกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังใช้เป็นเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่หัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกตัวอย่างบันทึกการเดินทางตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา ของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ และพระพรหมภิบาล ใน ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ ผ่านเมืองฉะเชิงเทรา เมืองปราจีนบุรี เมืองกบินทร์บุรี ข้ามลำน้ำพระปรง ด่านสระแก้ว เมืองวัฒนานคร บ้านละลมติน ขึ้นช่องเขาตะโกไปสู่ชุมชนในเขตเมืองนางรอง และเดินทางต่อไปยังเมืองนครราชสีมา
และในคราวที่ราชสำนักสยามเปลี่ยนข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวกาว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (ข้าหลวงมณฑลลาวกาวเดิม) ได้เสด็จออกจากเมืองอุบลราชธานี พร้อมด้วยข้าราชการในพระองค์กลับมายังกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางช่องเขาตะโกด้วยเช่นกัน
แผนที่อินโด-ไชน่า (Carte de l'Indo-Chine ) มาตราส่วน ๑ : ๒,๐๐๐,๐๐๐ จัดทำขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๙๕ (ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๓๘) โดย MM. les Capitaines Cupet, Friquegnon และ de Malglaive (เป็นส่วนหนึ่งในรายงานของ Auguste Pavie นักสำรวจชาวฝรั่งเศสและอดีตกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕)***
ตัวอย่างแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แผนที่ระวางนี้แสดงเส้นทางการคมนาคมทั้งเส้นทางหลัก (เส้นทึบ) และเส้นทางสายรอง (เส้นประ) จากในภาพเส้นทางสายหลักคือ เส้นทางจากเมืองวัฒนานคร ไปยังเมืองอรัญประเทศและ เมืองศรีโสภณ ส่วนเส้นทางสายรองเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านช่องเขา โดยเส้นทางที่ผ่านระหว่างเทือกเขาสันกำแพง กับเทือกเขาพนมดงรัก คือ เส้นทางช่องตะโก จากเมืองอรัญประเทศ ผ่านบ้านละลมตินผ่านช่องตะโกไปสู่บ้านปะคำและเมืองนางรอง
แผนที่ระวางนครราชสีมา พิษณุโลก อุดรธานี ปราจีนบุรี มาตราส่วน ๑ : ๕๐๐,๐๐๐ จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๗) โดย ขุนบรรจงเจริญรัตน์ นายตรวจฝิ่นกองมณฑลเป็นผู้เขียน****
แผนที่ระวางนี้แสดงให้เห็นถึงเส้นทางคมนาคมในฝั่งพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่ามีเพียงเส้นทางเกวียนปราสาทหนองหงส์ทางเดียวเท่านั้น เนื่องด้วยบริเวณดังกล่าวมีสภาพพื้นที่เป็นป่า แต่เมื่อถัดออกมาจากช่องตะโกแล้วพบว่าเส้นทางเกวียนแยกออกเป็นหลายทาง เช่นเส้นทางไปเขาตาพรม เส้นทางไปบ้านหนองไม้ใหญ่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ มีชุมชนตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่หลายแห่ง
ในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐***** เป็นต้นมา ช่องตะโกได้รับการพัฒนาจากภาครัฐส่วนกลาง โดยการตัดถนนเชื่อมระหว่างพื้นที่อำเภอละหานทราย (ปัจจุบันคือ อำเภอโนนดินแดง) จังหวัดบุรีรัมย์ กับ อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) การตัดถนนครั้งนี้ได้ตัดผ่านช่องตะโก เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้สามารถสัญจรได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชนบท อีกทั้งยังเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการออกราชกิจจานุเบกษา “ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางหลวงจังหวัด สายอรัญประเทศ - ตาพระยา - ละหานทราย เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน” ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗
อย่างไรก็ตามการสร้างถนนตัดผ่านช่องตะโกนั้น ต้องเผชิญปัญหาจากการต่อต้านของกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในพื้นที่ แรงงานและเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างถนนถูกโจมตีได้รับความเสียหาย ทำให้ฝ่ายความมั่นคงและราษฎรในพื้นที่ต้องช่วยกันต่อต้านการโจมตีดังกล่าว กระทั่งสามารถตัดถนนได้สำเร็จและได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เราสู้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เพื่อระลึกถึงความเสียสละของราษฎร ตำรวจ ทหาร ที่มีส่วนช่วยให้การสร้างถนนนั้นสำเร็จลุล่วงตามแผนงานที่กำหนด
ในปัจจุบันเส้นทางผ่านช่องตะโกคือ ถนนหมายเลข ๓๔๘ หรือ ถนนธนะวิถี ถนนเส้นนี้ตัดตามถนนเส้นเดิมที่ข้ามช่องเขา เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กับ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีระยะทางประมาณ 143 กิโลเมตร
*การกำหนดอายุดังกล่าวพิจารณาได้จากชื่อชุมชนที่ยังคงใช้ชื่อเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อเลื่อนสถานะขึ้นเป็นเมือง เช่น บ้านหินแร่ (ต่อมาจึงเป็นเมืองอรัญประเทศ)
ค้นคว้าและเรียบเรียง : นายพนมกร นวเสลา
**ปัจจุบันอยู่ภายในค่ายไพรีระย่อเดช ตำบลท่าเกษม อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
***ที่มา: แผนที่ Carte de l'Indo-Chine สืบค้นจาก :
https://collections.lib.uwm.edu/digital/collection agdm/id/5839/rec/7?fbclid=IwAR3mFO3qkT2JDA9bT6T4ee9aLj5kPl20Axpp2UHFA_LOtTtrUM6zna43PXg
****ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขเอกสาร ผ.สบ.๑-๗
*****ภาพประกอบ : แผนที่ L509 หมายเลขระวางแผนที่ ND 48-5 พิมพ์ครั้งที่ 1. ชื่อระวาง NAKHON RACHASIMA จัดทำขึ้นโดยเหล่าทหารช่างกองทัพบกของสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พบว่ายังคงเป็นเส้นทางลูกรัง ที่มา : http://legacy.lib.utexas.edu/maps ams/indochina_and_thailand/txu-oclc-6535632-nd48-5.jpg
บรรณานุกรม
เอกสารที่ไม่ได้ตีพิมพ์
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงมหาดไทย. ร.๕ ม.๔๖/๗. เรื่อง กรมหมื่นสรรพสิทธ์เสด็จขึ้นไปเมืองนครราชสีมา ศก ๑๑๒ และพระหลวงกรมการราษฎรออกเงินทูลเกล้าฯ ถวายในการแผ่นดิน (๑๕ กรกฎาคม ๒๔๓๖–๑๑ มิถุนายน ๒๔๔๐).
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงมหาดไทย. ร.๕ ม.๒.๑๔/๑๓. เรื่อง พระพรหมาภิบาลออกไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา (๔ กันยายน ๒๔๓๙).
หนังสือ
กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนภิเษก เล่ม ๙. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๕.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๔๔.
Santanee Phasuk and Philip Stott. Royal Siamese Maps : War and Trade in Nneteenth Century Thailand. Bangkok : River Books, 2006.
บทความ
ศานติ ภักดีคำ. “จากด่านพระปรง สู่สระแก้ว”. ศิลปวัฒนธรรม ๓๖, ๖ (เมษายน ๒๕๕๘), ๓๖-๔๑.
สิขรินทร์ ศรีสุวิทธานนท์. “ปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว”. ศิลปากร ๖๓, ๓ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๖๓), ๖๕-๗๘.
ราชกิจจานุเบกษา
ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางหลวงจังหวัด สายอรัญประเทศ - ตาพระยา - ละหานทราย เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน (๒๕๑๗, ๑๓ สิงหาคม) เล่มที่ ๙๑ ตอนที่ ๑๓๗ง.
ดาวน์โหลดไฟล์: ปราสาทหนองหงส์ – ปราสาทเขาโล้น บนเส้นทาง... ช่องตะโก.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 2185 ครั้ง)