หีบพระธรรม ลายรดน้ำ
อยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ หรือประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ ปีมาแล้ว
ไม้ ลงรักปิดทอง
ขนาด สูง ๕๔ เซนติเมตร กว้าง ๔๘ เซนติเมตร ยาว ๗๘ เซนติเมตร
หีบพระธรรม ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เขียนลายรดน้ำทั้งสี่ด้านตลอดทั้งใบ ลายในช่องกระจกของตัวหีบทั้ง ๔ ด้านเขียนพื้นหลังด้วยลายพันธุ์พฤกษาและโขดหินมีสัตว์ต่างๆ แสดงป่าหิมพานต์ ลายในช่องกระจกเล็กๆ ๑๒ ช่องของฝาหีบ มีรูปสัตว์ประจำปีนักษัตรรูปละช่องเรียงกันไป ดังนี้ ด้านหน้า ๔ ช่อง ได้แก่ ชวด (หนู) ฉลู (โค/วัว) ขาล (เสือ) เถาะ (กระต่าย) ด้านข้างซ้าย ๒ ช่อง ได้แก่ มะโรง (งูใหญ่) มะเส็ง (งูเล็ก) ด้านหลัง ๔ ช่อง ได้แก่ มะเมีย (ม้า) มะแม (แพะ) วอก (ลิง) ระกา (ไก่) ด้านข้างขวา ๒ ช่อง ได้แก่ จอ (สุนัข/หมา) กุน (หมู)
ธรรมเนียมการใช้ปีนักษัตร สัตว์ทั้ง ๑๒ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำแต่ละปี มาจากจีนโบราณ และเป็นที่รู้จักในพื้นที่สุวรรณภูมิ แต่เรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ในศิลาจารึกเขมร ปรากฏหลักฐานการใช้ปีนักษัตรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ (๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว)
ปัจจุบันหีบพระธรรม ลายรดน้ำ จัดแสดงในห้องประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ค้นคว้าโดย นางสาวเณศรา ประสพถิ่น
นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
(จำนวนผู้เข้าชม 1334 ครั้ง)