...

รูปโคอุสุภราชสำริด

    อยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ หรือประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ ปีมาแล้ว

    สำริด 

    สูง ๑๓๗.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๑๔ เซนติเมตร

    ได้จากวัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

รูปโคอุสุภราชสำริด  ที่ขาประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันวิหารน้อย วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีการกำหนดอายุอยู่ในช่วงอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๔)  จึงกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่มีการสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๕๔ – ๒๑๗๑)

    จากลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ทรงวินิจฉัยถึงเรื่องราวเทียนสำริดรูปเรือกิ่ง ที่วัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตอนหนึ่งกล่าวถึงรูปโคอุสุภราช รูปนี้ว่า

“...วินิจฉัยนี้มีขัดข้องเป็นข้อสำคัญที่รูปเรือกิ่ง มีจำหลักศิลาอยู่ที่ฝาระเบียงปราสาทบายนในนครธม ซึ่งสร้างมาก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรมแล้วหลายร้อยปี เพราะฉะนั้นเรือกิ่งหล่อที่พระพุทธบาทอาจจะได้มาจากเมืองเขมรหรือมิฉะนั้นอาจจะหล่อขึ้นในประเทศนี้ตามแบบเขมรในสมัยเดียวกันกับรูปโคอุศุภราช ที่เคยอยู่ในพระอุโบสถวัดพระพุทธบาทอีกรูป (ซึ่งเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแล้ว) เดิมอาจจะอยู่ที่อื่นแล้วเอาไป          “ปล่อยพระพุทธบาท” เมื่อภายหลังรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมก็เป็นได้ จึงมีของโบราณหล่อทองสัมฤทธิ์ อยู่ที่พระพุทธบาทเป็น ๒ ขึ้นด้วยกัน…”

    ปัจจุบันรูปโคอุสุภราชสำริด จัดแสดงในห้องประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยุธยา  อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

 

(จำนวนผู้เข้าชม 957 ครั้ง)


Messenger