...

พระธาตุเชิงชุมจำลอง

     พระธาตุเชิงชุมจำลอง 

     สูง ๕๙ เซนติเมตร 

     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ 

     พระธาตุเชิงชุมจำลองหล่อด้วยโลหะเงิน ประดับยอดด้วยฉัตรทองคำ จังหวัดสกลนครจำลองถวายเป็นที่ระลึกในคราวเสด็จตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙

     ที่ฐานพระธาตุเชิงชุมจำลองทั้ง ๔ ด้านมีจารึกข้อความด้วยอักษรต่างกัน ๔ อักษร  ได้แก่ อักษรไทน้อย อักษรธรรมอีสาน อักษรไทย และอักษรขอมไทย โดยมีเนื้อความเดียวกันคือ “รูปธาตุเชิงชุม  จังหวัดสกลนคร  จำลอง เมื่อ พ,ศ,๒๔๖๙”

น่าสังเกตว่าช่างที่ทำได้ใส่ใจในรายละเอียด อาทิ  ฉัตรทองคำ ๗ ชั้น มีการประดับขันรองต้นฉัตรชั้นล่างสุด ตามธรรมเนียมล้านช้าง เช่นเดียวกับพระธาตุองค์จริง  หรือในส่วนของหน้าบันซุ้มทางเข้าคูหาภายในพระธาตุ มีการประดับลวดลายพรรณพฤกษาที่ดูแล้วก็ชวนให้นึกถึงลายปูนปั้นที่หน้าบันพระธาตุเชิงชุมองค์จริงเช่นกัน

     อนึ่งการถวายรูปปูชนียสถานจำลองด้วยเงินเป็นที่ระลึกนี้ มีแบบอย่างมาแล้ว  โดย คณะกรมการเมืองสกลนคร เคยถวาย พระธาตุนารายณ์เจงเวงจำลอง แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๙

     จารึกที่ฐานพระธาตุเชิงชุมจำลองทั้ง ๔ ด้าน จารึกด้วยอักษรต่างกัน ๔ อักษร ได้แก่ อักษรไทน้อย อักษรธรรมอีสาน อักษรไทย และอักษรขอมไทย โดยมีเนื้อความเดียวกันคือ “รูปธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร จำลอง เมื่อ พ,ศ,๒๔๖๙” ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นที่ระลึกในคราวเสด็จตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙

     รายละเอียดของหน้าบันซุ้มทางเข้าคูหาภายในพระธาตุเชิงชุมจำลอง มีการประดับลวดลายพรรณพฤกษา

     รายละเอียดฉัตรทองคำ ๗ ชั้น ของพระธาตุเชิงชุมจำลอง มีการประดับขันรองต้นฉัตรชั้นล่างสุด ตามธรรมเนียมล้านช้าง เช่นเดียวกับพระธาตุองค์จริง

    พระธาตุเชิงชุม (ถ่ายพ.ศ. ๒๕๕๒) เป็นพระธาตุก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจำนวน ๖ ชั้น ที่มุมของฐานล่างสุดประดับด้วยเสากลม บริเวณกึ่งกลางฐานล่างทำซุ้มประตูทรงหอปราสาท ๓ ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นบัวปากระฆังและองค์ระฆังทรงสี่เหลี่ยมต่อด้วยบัลลังก์สี่เหลี่ยมรองรับยอดทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเจดีย์ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมอีสานมีฐานป่องตอนกลางโค้งเว้าชะลูดขึ้นไปเป็นคอให้กับส่วนบนที่บานออก และประดับส่วนบนสุดด้วยฉัตรทอง ๗ ชั้น

     ฉัตรพระธาตุพนมองค์เดิม ซึ่งนำลงมาจากยอดพระธาตุพนมคราวยกฉัตรทองคำใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ปัจจุบันเก็บรักษาที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตบูร วัดพระธาตุพนม จะสังเกตเห็นธรรมเนียมการประดับขันหลายเหลี่ยมรองรับฉัตรชั้นล่างสุด

(จำนวนผู้เข้าชม 5135 ครั้ง)


Messenger