...

บานประตูประดับมุก

     บานประตูประดับมุก

     ศิลปะอยุธยา  พ.ศ. ๒๒๙๕

     เดิมเป็นบานประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรรับจากสำนักพระราชวัง เมื่อ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๖

     พ.ศ. ๒๒๙๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างบานประตูประดับมุกพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม 

     พ.ศ. ๒๔๔๓ พระญาณไตรโลกาจารย์ (อาจ จนฺทโชติ) วัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายบานประตูประดับมุกแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สำหรับใช้เป็นประตูหอพุทธศาสนสังคหะแต่ภายหลังทรงพระราชดำริเป็นอย่างอื่น  จึงเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงวังมิได้ใช้งาน  

     พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายบานประตูประดับมุกจากกระทรวงวังมาจัดแสดง ที่มุขหน้าพระที่นั่งพรหมเมศธาดา พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร 

     พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นำบานประตูประดับมุกจากพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ไปประกอบเข้าที่ประตูหอพระมณเฑียรธรรม ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เนื่องในการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี 

     พ.ศ. ๒๕๕๐ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปรารภให้กรมศิลปากรจำลองบานประตูประดับมุกขึ้นทดแทนบานประตูมุกหอพระมณเฑียรธรรมตามแบบเดิมทุกประการ 

     พ.ศ. ๒๕๕๖ กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ดำเนินการถอดบานประตูมุกเดิมที่หอพระมณเฑียรธรรมและประกอบบานประตูประดับมุกใหม่ทดแทน



บานประตูประดับมุก พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันจัดแสดงมุขหน้าพระที่นั่งพรหมเมศธาดา

ขอบประตูมุกด้านหนึ่งมีจารึกข้อความประวัติการสร้างจำนวน ๒ บรรทัด ความว่า

 

     ๏ศุภมัศดุ พระพุทธศักราช ๒๒๙๕ พระวษา ณ วัน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแมตรีณิศก พระบาทสมเดจบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้เขียนลายมุกบานประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธารามช่าง ๒๐๐ คน

     เถิง ณ วัน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแมตรีณิศก ลงมือทำมุก ๖ เดือน ๒๔ วันสำเร็จ พระราชทานช่างผู้ได้ทำการมุกทั้งปวง เสื้อผ้ารูปพรรณทองเงินแลเงินตราเปนอันมากเลี้ยงวันแล ๓ เพลา ค่าเลี้ยงมิได้คิดเข้าในพระราชทานด้วย คิดแต่บำเหนจประตูหนึ่งเป็นเงินตรา ๓๐ ชั่ง ๛


ภาพบุษบกที่ตอนบนของบานประตูประดับมุก พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม

     บานประตูมุกคู่นี้ มีการซ่อมแซมมาหลายคราว ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ ความตอนต้นว่า

     “ด้วยบานมุกวัดศาลาปูนนั้น เปนของไปเก็บมาจากที่อื่น ติดอยู่ในที่นั้นก็ไม่สู้มีผู้ใดเห็นบัดนี้ฉันคิดจะสร้างหอธรรมที่วัดเบญจมบพิตร เห็นว่าบานคู่นั้นเปนฝีมือเก่างามดี ซึ่งจะเลียนทำขึ้นใหม่ไม่ได้ บานนั้นชำรุดตอนล่าง พระซ่อมขึ้นไว้ก็ไม่เหมือนของเดิม บัดนี้อยากจะได้ลงมาคิดซ่อมแซมลองดูแล้วจะติดหอธรรมวัดเบญจมบพิตร...”


รายละเอียดของนมบนที่อกเลาบานประตูประดับมุก พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม

ปีกครุฑพาหนะพระนารายณ์ บนบานประตูประดับมุก พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม มีขนาดกว้าง ๑๒ เซนติเมตร

     ข้อมูลเดิมมักกล่าวกันว่า บานประตูวัดบรมพุทธารามบานอื่นถูกตัดและนำมาปรับใช้เป็นบานตู้คัมภีร์ ( ๑๑๔บ.) ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในห้องเครื่องมุก พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นล่าง) แต่จากขนาดของตัวภาพประดับมุกที่บานตู้มีขนาดใหญ่กว่า (๑๘ เซนติเมตร) และบานประตูประดับมุกพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม ได้รับการวัดขนาดแล้วว่าเป็นเป็นบานประตูคู่กลางของพระอุโบสถ (ช่องประตูกลางมีขนาดกว้าง ๑๖๕.๕ เซนติเมตร สูง ๓๗๒ เซนติเมตร)

     ดังนั้นงานประดับมุกบนบานตู้คัมภีร์ จึงเป็นบานประตูประดับมุกของพระอารามอื่นไม่ใช่วัดบรมพุทธารามตามที่เข้าใจ
กันแต่เดิม

ปีกครุฑพาหนะพระนารายณ์ บนบานตู้ประตูประดับมุก (๑๑๔บ.) มีขนาดกว้าง ๑๘ เซนติเมตร จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานเมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๕

 

    ข้อมูลเดิมมักกล่าวกันว่า บานประตูวัดบรมพุทธารามบานอื่นถูกตัดและนำมาปรับใช้เป็นบานตู้คัมภีร์ ( ๑๑๔บ.) ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในห้องเครื่องมุก พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นล่าง) แต่จากขนาดของตัวภาพประดับมุกที่บานตู้มีขนาดใหญ่กว่าคือมีขนาดกว้าง ๑๘ เซนติเมตร และบานประตูประดับมุกพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม ได้รับการวัดขนาดแล้วว่าเป็นเป็นบานประตูคู่กลางของพระอุโบสถ (ช่องประตูกลางมีขนาดกว้าง ๑๖๕.๕ เซนติเมตร สูง ๓๗๒ เซนติเมตร) โดยปีกครุฑพาหนะพระนารายณ์ บนบานประตูประดับมุก พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม มีขนาดกว้าง ๑๒ เซนติเมตร

     ดังนั้นงานประดับมุกบนบานตู้คัมภีร์ จึงเป็นบานประตูประดับมุกของพระอารามอื่นไม่ใช่วัดบรมพุทธารามตามที่เข้าใจกันแต่เดิม

 

(จำนวนผู้เข้าชม 8782 ครั้ง)


Messenger