ถาดทองลงหิน
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ ( ๑๐๐ ปีมาแล้ว)
สำริด กว้าง ๒๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๓๓.๕ เซนติเมตร สูง ๔ เซนติเมตร
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ถาดทองลงหินทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก้นตื้น มีขอบกว้าง ตอนกลางของขอบถาดแต่ละด้านยื่นออกเป็นรูปกระจัง ขอบถาดประดับลายสองชั้น ชั้นบนฉลุลายก้านขดพันธุ์พฤกษาและอรหัน ชั้นล่างพื้นเรียบ ริมขอบแต่งด้วยเส้นนูน ถาดมีขาเป็นปุ่มกลม ๔ ปุ่ม ถาดทองลงหินนี้ ใช้สำหรับรองชุดน้ำชา ใช้รองป้านชา ถ้วยชง และถ้วยชา
“ทองลงหิน” เป็นโลหะผสมทองแดงกับดีบุก หรือที่เรียกว่า “ทองสัมฤทธิ์” ขั้นตอนสุดท้ายของการทำเครื่องทองลงหิน ช่างในสมัยโบราณจะใช้เบ้าดินเผาที่ใช้แล้วบดย่อยห่อผ้าหมุนกลิ้งไปกับเนื้อภาชนะ และใช้หินเนื้อละเอียดอย่างหินลับขัดภาชนะจนขึ้นเงา จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า “เครื่องทองลงหิน”
(จำนวนผู้เข้าชม 2578 ครั้ง)