...

คนโทบังกะรีทองลายพันธุ์พฤกษา



        ศิลปะอินเดีย พุทธศตวรรษที่ ๒๔ หรือประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว

        โลหะผสม  สูงพร้อมฝา ๒๙ เซนติเมตร

        สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

        คนโทบังกะรีทอง รูปทรงกลมมีเชิง คอทรงกระบอกยาว ปากแคบ มีฝาปิด ตกแต่งด้วยการฝังแผ่นโลหะสีทองลงบนพื้นผิวที่มีสีดำ ที่ลำตัวและส่วนกลางของคอฝังแผ่นโลหะสีทองเป็นลวดลายก้านแย่งพันธุ์พฤกษา  สำหรับลายที่บ่าฝังแผ่นโลหะเป็นลายก้านขดพันธุ์พฤกษา คนโทบังกะรี เป็นโลหะผสมของสังกะสีและทองแดง  ขึ้นรูปด้วยการหล่อแม่พิมพ์ จึงมีน้ำหนักมากกว่าคนโทโลหะสำหรับใส่น้ำดื่ม (น้ำเย็น) ชนิดอื่น 

        เครื่องบังกะรีเป็น  เครื่องใช้โลหะที่คนไทยนำเข้าจากอินเดียจึงมีรูปทรงและลวดลายที่แตกต่างจากภาชนะของไทย  ชาวมุสลิมในอินเดียใช้คนโทบังกะรีสำหรับใส่เหล้าองุ่น  สำหรับในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เครื่องบังกะรีเป็นเครื่องโลหะที่พระมหากษัตริย์พระราชทานเป็นเครื่องยศแก่ข้าราชการชั้นหัวหมื่นนายเวรมหาดเล็กอีกด้วย  

สำหรับเทคนิค “บังกะรี” (Bidri work) เป็นเทคนิคการฝังเส้นหรือฝังแผ่นโลหะลงบนผิวโลหะผสมของสังกะสีกับทองแดง จากนั้นนำไปชุบลงในน้ำที่ต้มกับน้ำประสานดีบุก (เกลือแอมโมเนียคลอไรด์) เพื่อให้ผิวโลหะเปลี่ยนเป็นสีดำต่างกับเส้นเงินหรือทองเหลืองที่ฝังลงไป

(จำนวนผู้เข้าชม 3118 ครั้ง)