หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ

เว็ปไซต์หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ: www.finearts.go.th/suphanburilibrary


ประวัติความเป็นมา
 
  “ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี  เฉลิมพระเกียรติ”   เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี    “ กาญจนาภิเษก ”    เมื่อ พ.ศ. 2539 พร้อมให้เชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี  ประดิษฐานบนอาคารหอสมุดฯ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่  รล 0003 / 5808  ลงวันที่  8  เมษายน  2540 
หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ สังกัดสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี  กรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม  จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ให้บริการการศึกษาค้นคว้าวิจัย  ของนักเรียน  นักศึกษา  และประชาชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียงโดยได้รับการสนับสนุนจาก ฯพณฯ บรรหาร  ศิลปอาชา  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีและนายกรัฐมนตรีคนที่  21  ของไทย  โดยได้จัดสรรงบประมาณตามโครงการพัฒนาจังหวัดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี  ประจำปี  2538  และ  2540  เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างอาคารและปรับปรุงพื้นที่  จำนวน  21,114,000.-  บาท (ยี่สิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถ้วน)   สำหรับก่อสร้างอาคารและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ
 
     หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี  เฉลิมพระเกียรติ    เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่  6  มกราคม  พ.ศ. 2540  และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์  ที่  1  กันยายน  2546  โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ได้เสด็จฯเป็นองค์ประธานในพิธี   
ภารกิจหน่วยงาน
1.   บริหารจัดการด้านการสำรวจ     จัดหา   รวบรวม   และจัดเก็บทรัพยากรสารนิเทศทุกสาขาวิชา  เพื่อเป็นคลังสิ่งพิมพ์ในภูมิภาค
2.  ศึกษาค้นคว้า  และดำเนินการวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์  เพื่อใช้เป็นคู่มือในการให้คำปรึกษา  แนะนำการปฏิบัติงานห้องสมุดได้อย่างมีมาตรฐาน
3.  พัฒนาระบบการสืบค้นสารนิเทศที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองการศึกษาค้นคว้าวิจัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนทุกเพศ และวัย   ให้ได้รับความสะดวก  รวดเร็ว    และมีประสิทธิภาพ
4.  ให้บริการสารนิเทศ  และส่งเสริมการอ่าน    การศึกษาค้นคว้าวิจัยแก่ประชาชนทุกเพศ  และวัย  เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และการศึกษาตามอัธยาศัย
5.  ประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติในการสำรวจ  รวบรวมเอกสารโบราณ หนังสือหายาก  และคัมภีร์ใบลาน  เพื่อการสงวนรักษามรดกทรัพย์สินภูมิปัญญาของภูมิภาค
6.  ประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติในการเผยแพร่   และกำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ ( ISBN )  และเลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร ( ISSN )
7.  ให้คำปรึกษา  แนะนำ    ฝึกอบรมทางวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ แก่บุคลากรห้องสมุด และหน่วยงานต่าง ๆ ในภูมิภาค