กองโบราณคดีใต้น้ำ
จำนวนผู้เข้าชม 4918



เว็ปไซต์กองโบราณคดี: www.finearts.go.th/archaeunderwater

ประวัติความเป็นมา
          งานโบราณคดีใต้น้ำประเทศไทยเริ่มต้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สาเหตุที่กรมศิลปากรเริ่มทำงานวิชาการด้านนี้อย่างจริงจังและกะทันหัน โดยที่กรมศิลปากรยังไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติงานในทะเล และไม่มีอุปกรณ์ปฏิบัติงานใต้น้ำ เนื่องจากมีชาวประมงพบซากเรื่อจมโบราณมีโบราณวัตถุประเภทเครื่องสังคโลกจำนวนมากในร่องน้ำลึกใกล้เกาะคราม และมีนักล่าสมบัติ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าไปงมเครื่องถ้วยสังคโลกขึ้นมาขาย โดยไม่หวั่นกลัวต่อกฎหมาย ทำให้หลักฐานทางวิชาการและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติถูกทำลายไปมากมาย
           ในการปฏิบัติงานโบราณคดีใต้น้ำระยะเริ่มต้นกรมศิลปากรได้ขอความร่วมมือจากกองทัพเรือ จัดส่งเรื่องอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการใต้น้ำมาช่วยดำเนินงานกู้โบราณวัตถุเครื่องถ้วยในแหล่งเรือจมโบราณใกล้เกาะครามได้เป็นผลสำเร็จ
          ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ กรมศิลปากรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศเดนมาร์กส่งผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีใต้น้ำมาช่วยแนะนำการปฏิบัติงานและร่วมการปฏิบัติงาน ให้ทุนฝึกอบรมและศึกษาดูงานในประเทศเดนมาร์ก นับตั้งแต่ปีนั้นมาคนไทยและนานาชาติก็รู้จักโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทย
          ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ รัฐบาลไทยจึงอนุมัติให้กรมศิลปากร จัดตั้งโครงการโบราณคดีใต้น้ำ และได้บรรจุโครงการฯเข้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๔) ต่อมาภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนยกระดับจากโครงการโบราณคดีใต้น้ำมาเป็นงานโบราณคดีใต้น้ำ ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดีจนสุดท้ายมาเป็นกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมดังในปัจจุบัน

บทบาทหน้าที่
          จากจุดเริ่มต้นโครงการโบราณคดีใต้น้ำมีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมการศึกษา วิจัยเรื่องการพาณิชยานาวีสมัยโบราณโดยการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำประเภทซากเรื่อจมโบราณ ซึ่งหลักฐานจมน้ำเช่นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การคมนาคม การติดต่อค้าขายทางทะเลตลอดจนถึงสินค้า แหล่งผลิตสินค้า เทคโนโลยีการต่อเรื่อ การเดินเรือ การสงคราม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเรือ และเมื่อท่าต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ทั้งของประเทศและของภูมิภาค

          หน้าที่ความรับผิดชอบกลุ่มวิชาการโบราณคดีใต้น้ำได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามกิจกรรมดังนี้
      1. เก็บข้อมูลทางวิชาการเพื่อการศึกษาวิจัย โดยการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำทั่วทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นในมหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ ลำธาร คลอง บึง น้ำตก หนอง กว๊าน ตระพัง สระ หรืออ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการสร้างเขื่อน
      2. ศึกษาวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจขุดค้นและร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความชำนาญการเฉพาะด้าน ตามกระบวนการศึกษาวิจัย
      3. แปลความและตีความหมายจากหลักฐานที่ได้จากการสำรวจขุดค้น
      4. จัดการฝึกอบรมในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีใต้น้ำ
      5. พัฒนาปรับปรุงอุปกรณ์และเทคนิคการปฏิบัติงานใต้น้ำให้เหมาะสมแก่เรื่องและกรณี ทั้งการจัดหาจัดซื้อและผลิตเอง