พิพิธิภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง สงขลา
พิพิธิภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง สงขลา: www.virtualmuseum.finearts.go.th/songkhla

ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา
           สงขลาเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้มาตั้งแต่โบราณ มีเมืองเก่าหลายเมือง มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษตกทอดให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา เป็นศูนย์กลางการค้า เป็นเมืองชุมทางภาคใต้ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม มีความเจริญเติบโตด้านธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว ที่ยังคงรักษาความเก่าแก่ของโบราณสถานอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองไว้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง
 
ชื่อจังหวัดสงขลา
           “สงขลา” มาจากคำว่า  “สิงหนครา” คำหนึ่ง และมาจากคำว่า “สิงขรนครา” อีกคำหนึ่ง โดยมีเหตุผล ดังนี้
           1.ดินแดนแห่งหนึ่งในสมัยโบราณเป็นอาณาจักรศิริธรรมนคร หรืออาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งซึ่งมีอำนาจมาก ผลัดเปลี่ยนกันขยายอาณาเขตการปกครอง  มีพ่อค้าชาวอินเดีย เดินทางมาค้าขายในอาณาจักรดังกล่าวโดยทางเรือ เมื่อผ่านเกาะหนู เกาะแมว ทางด้านนอกมองเข้าหาฝั่ง มองเห็นเหมือนสิงห์หมอบอยู่บนพื้นน้ำ จึงเรียกว่า “สิงหลา” แปลว่า “เกาะรูปสิงห์” และเรียกเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งริมเขาแดงว่า “สิงหนครา” เมืองสิงห์ จึงอาจหมายถึง เมืองที่มีเกาะรูปสิงห์เป็นลักษณะ ตั้งอยู่ในอ่าวหน้าเมือง
           2.พ่อค้าชาวอินเดีย หรืออาจเป็นชาวชาติอื่น ในอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งรับอิทธิพลทางศาสนาและภาษาจากอินเดีย เมื่อเดินทางมาค้าขายกับชาวเมืองที่ตั้งอยู่เชิงเขาแดง จึงเรียกชาวเมืองตามภาษาจากอินเดียว่า ชาว”สิงขรนครา” แปลว่า “ชาวเมืองภูเขา” อาจหมายถึง ชาวเมืองที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ภูเขา
           ทั้ง 2 คำนี้ คือ “สิงหนครา” และ “สิงขรนครา” เป็นคำที่คนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อทั้งไทย จีน อินเดีย ชวา มลายู และชาวตะวันตกชาติต่าง ๆ เรียกตาม ๆ กันว่า “Sangora” บ้าง “Cingor” บ้าง จนเพี้ยนเป็น “สงขลา” ในปัจจุบัน
 
เมืองสงขลาในสมัยต่าง ๆ
           การตั้งถิ่นฐานประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน แบ่งตามอายุสมัย ได้ดังนี้
           1. ยุคก่อนเมืองสงขลา
               1.1 เมืองสงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์
               1.2 เมืองสงขลาสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
               1.3 เมืองสงขลาสมัยเมืองสทิงพระ
               1.4 ยุคเมืองพัทลุงที่สทิงพระ-พะโคะ
           2. ยุคเมืองสงขลา
               2.1 สมัยเมืองสงขลาเก่าหัวเขาแดง
               2.2 สมัยสงขลาเก่าฝั่งแหลมสน
               2.3 สมัยสงขลาตำบลบ่อยาง
 
           1. ยุคก่อนเมืองสงขลา
               1.1 เมืองสงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์
                     ช่วงเวลา:  3,500 ปีก่อนพุทธกาล - ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5
                     แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ
                     -    บ้านสวนตูล  ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา
                     -    เขารักเกียรติ  ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ
                     -    บ้านจะโหนง ตำบลจะโหนง อำเภอ จะนะ
                     -    เขาลูกช้าง ตำบลทุ่งหม้อ อำเภอสะเดา
               แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ทั้ง 4 แหล่งนี้ เป็นเนินเขา มีถ้ำที่มนุษย์อาศัยอยู่  จากการขุดค้นสำรวจพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณดังกล่าว ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา หม้อสามขา กระดูกมนุษย์และกระดูกสัตว์ เครื่องมือหินขัด กลองมโหระทึกสัมฤทธิ์ ซึ่งสันนิษฐานว่า ในสถานที่เหล่านี้ มนุษย์เคยอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อประมาณ 6,000 ปี มาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหินใหม่  ต่อมา มนุษย์เหล่านี้ได้ย้ายถิ่นฐานลงมาอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำ เนื่องจากมีพัฒนาการความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีความจำเป็นที่จะต้องขยายแหล่งทำมาหากินเพิ่มขึ้น จึงเกิดการย้ายถิ่นฐานซึ่งเป็นไปได้อย่างมากว่า ต้องย้ายลงมาในบริเวณที่ราบริม ๆ ทะเลสาบสงขลา และบนสันทรายสทิงพระ
          
               1.2 เมืองสงขลาสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
                     ช่วงเวลา : ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5 - 18
                     แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ
                     -    ชุมชนโบราณปะโอ อยู่ในเขตอำเภอวัดขนุน และตำบลม่วงงาม อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ชุมชนหนองหอย” หรือชุมชนเตาเผาโบราณ เพราะพบเตาเผารูปโดมจำนวนมากบริเวณนี้ แหล่งเตาเผานี้ ผลิตภาชนะดินเผาทั้งแบบเนื้อธรรมดาและดินขาว ประเภทต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ กุณฑี มีการตกแต่งพื้นผิวภาชนะเป็นลายขุด และลายเขียนสี ชุมชนนี้อาจจะผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นสินค้าออกมาแต่โบราณ
                     -    ชุมชนโบราณสทิงพระ ตั้งอยู่ในตำบลกระดังงา ตำบลจะทิ้งพระ ตำบลบ่อแดง ตำบลบ่อตาล และตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระในปัจจุบัน  ลักษณะที่ตั้งเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีคูน้ำล้อมรอบ พบโบราณวัตถุ เป็นเศษถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซุ่ง ราชวงศ์หยวน และราชวงศ์หมิง  เครื่องถ้วยของเวียดนาม ซึ่งเป็นดินเผาสีเขียวไข่กา ร่วมสมัยกับราชวงศ์ ซุ่ง (พ.ศ.1503 - 1822) และราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1822 - 1911) ของจีน และยังพบซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐและหิน พบไหเคลือบ ศิลปะจีน สมัยราชวงศ์ถัง เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็ก ทองคำ ลูกปัดหินรัตนชาติ และภาชนะดินเผาที่แต่งลวดลายเป็นตัวอักษรปัลลวะ
                     -    ชุมชนโบราณสีหยัง ตั้งยู่ที่บ้านสีหยัง ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด เป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีร่องรอยว่าเป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ศูนย์กลางชุมชนตั้งอยู่บริเวณวัดสีหยัง มีหลักฐานเป็นสถูปโบราณก่อด้วยหิน
ปะการัง ตั้งอยู่ในวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17
                     -    ชุมชนโบราณบริเวณเขาคูหา ใกล้วัดพะโคะ ตั้งอยู่ในตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ เป็นชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่มีอายุสืบเนื่องมาถึงสมัยอยุธยา  ภูมิประเทศเป็นเนินเขาโดด ๆ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20 เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนา บนเนินเขาเป็นที่ตั้งของวัดพะโคะ อายุประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตั้งอยู่ห่างจากเขาคูหาไปทางใต้ประมาณ 500 เมตร ทางตะวันออกของเขาคูหาพบตระพังสำคัญขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในจังหวัดสงขลา มีน้ำขังตลอดปี เรียกว่า “พังพระ” มีขนาด 300 × 300 เมตร เขาคูหามีถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น 2 ถ้ำ มีลักษณะขุดเข้าไปในภูเขา เป็นศาสนสถานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ หน้าถ้ำเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์ขนาดใหญ่ อายุประมาณพุทธ
ศตวรรษที่ 12 - 14 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา  ภายในถ้ำพบตัวอักษร คำว่า “โอม” อยู่เหนือแท่นบูชา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าทั้งสาม หรือ ตรีมูรติในศาสนาฮินดู เพราะ “โอม” ย่อมาจากคำว่า อะ อุ มะ ซึ่ง อะ หมายถึง พระนารายณ์  อุ หมายถึง พระศิวะ และ มะ หมายถึงพระพรหม อย่างไรก็ดี การสร้างศาสนสถานบนเขา เป็นที่นิยมโดยทั่วไปของชุมชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาจากประเทศอินเดีย ด้วยเหตุต่าง ๆ นี้จึงกำหนดอายุแหล่งชุมชนที่ถ้ำคูหาและวัดพะโคะ ว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 14 และน่าจะเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการปกครองมาก่อน ต่อมาจึงย้ายไปอยู่ที่ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
                     -    กลุ่มชุมชนโบราณพังยาง ตั้งอยู่ในตำบลพังยาง อำเภอระโนดในปัจจุบัน เป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ มีร่องรอยคูน้ำคันดินล้อมรอบ โดยมีวัดพังยางเป็นศูนย์กลาง  จากการขุดค้นของกรมศิลปากร พบหลักฐานการอยู่อาศัยของชุมชนและโบราณวัตถุซึ่งแสดงว่าชุมชนเหล่านี้ ได้มีการติดต่อค้าขายกับอินเดีย จีน เวียดนาม กัมพูชา และชุมชนใกล้เคียงในมาเลเซีย และรับเอาวัฒนธรรมในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาไว้ด้วย และยังมีการขุดพบเทวรูปใน
ศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ในพระพุทธศาสนานิกายอาจริยาวาท หรือ มหายาน เศษเครื่องถ้วยจีน เศษเครื่องถ้วยเวียดนาม สามารถกำหนดอายุได้ว่า ประมาณพุทธศตวรรษที 12 - 14
                     -    กลุ่มชุมชนโบราณอู่ตะเภา - ระโนด ตั้งอยู่ในเขตตำบลระโนด ตำบลท่าบอน ตำบลปากแตระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
                     ผลการสำรวจของชุมชนโบราณเหล่านี้ ทำให้สันนิษฐานว่า ชุมชนแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ รู้จักทำการค้ากับอินเดีย และรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียมาด้วย โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา และยังมีการติดต่อกับชุมชนใกล้เคียงอื่น ๆ ได้แก่ ชุมชนโบราณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนโบราณในมาเลเซียและกัมพูชา และพบหลักฐานว่ามีการติดต่อค้าขายกับจีนด้วย  หลักฐานการตั้งถิ่นฐานในอดีต ได้แก่ คูคันดินและคลองต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้สามารถกำหนดตำแหน่งบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานในอดีตได้ ชุมชนโบราณส่วนใหญ่ ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บน
สันทรายริมทะเลสาบด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นแนวยาวจากอำเภอระโนดไปถึงปากทะเลสาบที่ติดต่อกับทะเลใหญ่ใน
อำเภอเมืองสงขลา สภาพถิ่นฐานของชุมชนโบราณ ส่วนใหญ่มีการพบร่องรอยการขุดสระน้ำ ที่เรียกว่า “ตระพัง” ที่ขุดขึ้นเพื่อเก็บน้ำจืดไว้ดื่มและใช้อุปโภค จำนวนตระพังที่พบมีมากกว่า 200 แห่ง แหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญในบริเวณนี้มีร่องรอยของคูคลองขุดล้อมรอบบริเวณ และแนวคูคลองที่เชื่อมต่อไปยังทะเลสาบ แสดงว่า การตั้งชุมชนที่เรียงตัวเป็นแนวราบตามสันทราย และมีคลองธรรมชาติระหว่างสันทราย สันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางติดต่อคมนาคมระหว่างชุมชนอีกทางหนึ่ง  หลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่ามีผู้คนอาศัยในชุมชนเหล่านี้ติดต่อกันเรื่อยมา สังเกตได้ว่าลักษณะการตั้งชุมชนโดย
อาศัยการขุดสระน้ำ “ตระพัง” เหล่านี้ เป็นลักษณะเดียวกับที่พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสภาพพื้นดินเป็นทราย และลึกลงไปใต้ดินจะเป็นน้ำเค็ม ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับดินบริเวณสันทรายชายฝั่งทะเลทั่วไป
              
   1.3 เมืองสงขลาสมัยเมืองสทิงพระ
                     ช่วงเวลา:  ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 18
                     ดินแดนสทิงพระ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยชุมชนเกษตรยุคแรก ๆ เริ่มรับอิทธิพลจากอินเดีย
และจีน จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่า มีการขยายชุมชนโบราณออกไปจนเจริญเป็นบ้านเมือง มีอำนาจและศูนย์การปกครองตนเองในพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 โดยพบว่าตัวเมืองสทิงพระมีคูน้ำล้อมรอบ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนริ้วสันทรายกลาง ซึ่งเป็นสันทรายที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรสทิงพระ คูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ ใช้เป็นขอบเขตเมือง และเส้นทางสัญจรระหว่างทะเลสาบกับทะเลใหญ่ ทั้งยังเป็นคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร และกักน้ำไว้ใช้ยามแล้ง รวมถึงเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำของชุมชน ยุคสมัยของเมืองสทิงพระ ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 11 - ปลายศตวรรษที่ 19 สามารถแบ่งออกได้ เป็น 3 ระยะ คือ
                     ระยะที่ 1 : กลางพุทธศตวรรษที่ 11 - ปลายพุทธศตวรรษที่ 14
                     พบว่ามีการก่อสร้างอาคารด้วยอิฐ มีพัฒนาการระบบคลองและทางน้ำที่ใช้เดินเรือ เพื่อติดต่อค้าขาย
กับ ต่างประเทศ พบเครื่องถ้วยเคลือบสีน้ำตาลและสีเขียวของจีนสมัยราชวงศ์ถัง และพบจารึกภาษามอญ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 แสดงว่ามีคนเชื้อสายมอญอยู่อาศัยในสทิงพระ และประติมากรรมสทิงพระยุคนี้ได้รับอิทธิพล
ทวาราวดี
                     ระยะที่ 2 : ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 19
                     เริ่มมีการสร้างกำแพงเมือง มีการขยายพื้นที่เกษตรกรรม พบ เครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงซุ่งจำนวนมาก
เมืองสทิงพระในระยะนี้มีความสัมพันธ์กับชวา จึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชวา โดยเฉพาะชวาตอนกลาง แต่หลังจากปลายศตวรรษที่ 15 เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองจากชวาภาคกลางไปยังชวาภาคตะวันออก ทำให้ความสัมพันธ์กับเมืองสทิงพระเลื่อนลอย  พบร่องรอยประติมากรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลพบุรี 2 - 3 ชิ้น แสดงถึงอิทธิพลจากดินแดนลุ่มแม่น้ำในภาคกลางแผ่ขยายลงมา
                     ระยะที่ 3 : ระหว่างต้นถึงปลายยุคพุทธศตวรรษที่ 18
                     มีการซ่อมกำแพงเมืองอย่างเร่งรีบ หลังจากถูกชาวสยามโจมตี สันนิษฐานว่า ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่
19 หลังจากอยุธยายึดครองเมืองสทิงพระแล้ว เมืองนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองพัทลุง
              
        1.4 ยุคเมืองพัทลุงที่สทิงพระ-พะโคะ
                     ช่วงเวลา:  ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 - 20
                     ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองสทิงพระ (อำเภอสทิงพระในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมี
ประวัติศาสตร์อันยาวนานได้เสื่อมอำนาจลง ชุมชนแห่งใหม่ การสร้างเมืองใหม่ก็เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงกัน คือ
“เมืองพัทลุงที่พะโคะ” หรืออีกนัยหนึ่ง เมืองพัทลุงที่สทิงพระย้ายไปตั้งใหม่ที่วัดพะโคะ  ซึ่งเมืองพัทลุงปรากฏมีขึ้นครั้งแรกในพระไอยการ ตำแหน่งนายทหารหัวเมือง พ.ศ.1998 ตรงกับรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 - 2031) สมัยกรุงศรีอยุธยา  เมืองพัทลุงได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ เป็นศูนย์
กลางการปกครอง การค้าทางเรือและการเกษตร  เมืองพัทลุงที่พะโคะเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ประมาณ 100 ปีเศษ ก็ล่มสลายลงเนื่องจากโจรสลัดมาเลย์หลายพวก ยกกำลังที่มากกว่าเข้าปล้นเมือง พวกโจรได้เผาทำลายวัดวาอารามบ้านเรือน และจับราษฎรไป ราษฎรที่เหลือก็อพยพหลบหนีไปสร้างชุมชนที่อยู่ใหม่ที่ปลอดภัยกว่า บางพวกข้ามทะเลสาบ ไปสร้างชุมชนใหม่ที่อำเภอบางแก้ว และอำเภอเขาชัยสนในปัจจุบัน จืงกลายเป็นเมืองพัทลุงบนฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ส่วนพวกที่ยังรักดินแดนเดิม ก็ไปสร้างชุมชนใหม่บริเวณริมเขาแดงปากทะเลสาบสงขลา นำโดยสุลต่านสุไลมาน ซึ่งเป็นเจ้าเมือง ที่ขึ้นตรงกับกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น
 
           2. ยุคเมืองสงขลา
               2.1 สมัยเมืองสงขลาเก่าหัวเขาแดง
                     ช่วงเวลา : ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 - ปลายพุทธศตวรรษที่ 23
               ภายหลังจากมีการอพยพมาสร้างชุมชนใหม่บริเวณริมเขาแดงปากทะเลสาบสงขลาประมาณ 60 ปี ชุมชนบริเวณริมเขาแดงขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขยายตัวทางการค้ากับชาวต่างประเทศในยุโรป เช่น พ่อค้าชาว
ดัตถ์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่เข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจากบริเวณปลายแหลมมลายู และหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซียและทางตอนใต้ของไทย สงขลาจึงได้เป็นเมืองท่าค้าขายทางเรือ ที่มีท่าเรือน้ำลึกปานกลางทั้งในทะเลใหญ่และในทะเลสาบ เป็นที่รู้จักกันทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในนามเมือง “สงขลาริมเขาแดง” ผู้ก่อตั้งเมือง
สงขลาริมเขาแดงเป็นชาวมุสลิม ชื่อ สุลต่านสุไลมาน เมืองสงขลาได้ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ผ่านการปกครองดูแลของ
นครศรีธรรมราช แต่เจ้าเมืองมีอำนาจเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง สามารถอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาทำการค้าได้อย่างเสรี ดังนั้นฐานะของเจ้าเมืองสงขลาจึงมั่งคั่งมั่นคง มีอิทธิพลอำนาจมากขึ้น หลักฐานของพ่อค้าชาวดัตถ์ เรียกเจ้าเมืองสงขลา ว่า “โมกุล” ส่วนในหลักฐานของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เรียกเจ้าเมืองสงขลาว่า “ดะโต๊ะโมกอลส์” ในปี พ.ศ.2171 ได้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เจ้าเมืองสงขลาซึ่งได้รับการสนับสนุนของอังกฤษ  ถือโอกาสประกาศตนเป็นอิสระ และตั้งตนเป็นกษัตริย์ เรียกว่า พระเจ้าเมืองสงขลา ซึ่งถือว่าเป็น ขบถต่อพระเจ้ากรุงสยาม
                     การตั้งเมืองสงขลาของดาโต๊ะโมกอลส์ ได้สร้างป้อม คู ประตู หอรบ อย่างแน่นหนา บันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ.1993 - 2093 เรียกสงขลาบริเวณริมเขาแดงว่า “ซิงกูร์” หรือ “ซิงกอรา”
         
               2.2 สมัยสงขลาเก่าฝั่งแหลมสน
                     ระยะที่เป็นหัวเมืองขึ้นของพัทลุงและนครศรีธรรมราช
                     ช่วงเวลา :  พ.ศ.2223 - 2313
                     ด้วยสาเหตุที่สงขลาไปเข้ากับอังกฤษตั้งแข็งเมืองกับอยุธยา ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงส่ง
กองทัพมาตีเมืองสงขลาใน พ.ศ.2223 และได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด  เนื่องจากบ้านเมืองถูกทำลายราบคาบ ชาวสงขลา
ส่วนหนึ่งจึงได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนใหม่ ที่บริเวณแหลมสน เชิงเขาปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ เรียกกันต่อมาว่า
“เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน” ส่วนเมืองสงขลาหัวเขาแดง สยามยกให้เป็นที่ตั้งกองทหารที่จะมาประจำในสยาม แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเมืองถูกทำลายแล้ว เรื่องราวของเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนในสมัยอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานมากนัก เมืองสงขลาช่วงนี้ถูกลดบทบาทและความสำคัญลงมาก โดยให้เป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง
                     ต่อมาใน พ.ศ.2252 ก็โอนมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งกลายเป็นหัวเมืองเอกในภาคใต้ เมือง
สงขลาอยู่ในภาวะซบเซามาตลอด จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2510 เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชตั้งตนเป็นใหญ่ เรียกว่า ชุมชนเจ้านครศรีธรรมราช สงขลาก็ยังขึ้นอยู่กับนครศรีธรรมราช
                      ระยะที่ขึ้นตรงกับกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
                       ช่วงเวลา :  พ.ศ.2313 - 2385
                      เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประกาศอิสรภาพ และทรงปราบปรามเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว ทรงแยกเมืองสงขลาออกจากนครศรีธรรมราช และพัฒนาเมืองสงขลาให้เจริญเพื่อคานอำนาจกับนครศรีธรรมราช ทรงแต่งตั้งชาวจีน ชื่อ เหยี่ยง แซ่เฮ่า ชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลบ่อทรัพย์ เป็นหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ นายอากรรังนก เกาะสี่ เกาะห้า ในทะเลสาบสงขลา ต่อมาในปี พ.ศ.2318 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเป็นพระยาสงขลา โดยให้ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบทอดทายาทเจ้าเมืองสงขลา ผู้เป็นต้น
ตระกูล ณ สงขลา ในปัจจุบัน
                       เมืองสงขลาแหลมสนมีเจ้าเมืองปกครอง 4 คน คือ
                       1. หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ     (เหยี่ยง แซ่เฮ่า)         พ.ศ. 2318-2322
                       2. เจ้าพระยาอินทคีรี           (บุญหุ้ย ณ สงขลา)     พ.ศ. 2322-2355
                       3. พระยาอินทคีรี                (เถี้ยนจง ณ สงขลา)    พ.ศ. 2355-2360
                       4. พระยาวิเชียรคีรี              (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา)   พ.ศ. 2360-2390
               
                2.3 สมัยสงขลาตำบลบ่อยาง
                      ช่วงเวลา : พ.ศ.2385 - ปัจจุบัน
                      พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี ย้ายเมืองสงขลาไปตั้งที่ตำบลบ่อยาง ซึ่งเป็นฝั่งทะเลสาบตรงกันข้ามกับเมืองสงขลาแหลมสน ในปี พ.ศ.2375 เพราะเมืองสงขลาแหลมสนเดิม ตั้งอยู่ในพื้นที่โอบรอบด้วยทะเลสาปด้านตะวันออก และภูเขาด้านตะวันตก ไม่สามารถขยายตัวเมืองออกต่อไปได้ พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ได้ดำเนินการสร้างกำแพงเมืองใหม่ในปี พ.ศ.2381 กำแพงเมืองสงขลาก่อด้วยศิลาก้อนสอปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยม  ล้อมรอบเมืองสงขลามีความยาว ทิศเหนือจดใต้ประมาณ 1,200 เมตร ทางทิศเหนือกว้าง ประมาณ 400 เมตร ทางทิศใต้กว้างประมาณ ๔๗๐ เมตร กำแพงสูง ๕ เมตร หนา ๒ เมตร มีใบเสมาและป้อมประตูมั่นคง มีป้อม 8 ป้อม แต่ละป้อมมีปืนใหญ่กระสุน 4 นิ้ว ป้อมละ 3 - 4 กระบอก ประตูเมืองเป็นซุ้มใหญ่ 10 ประตู กับมีประตูเล็กอีก 10 ประตูโดยรอบ บัดนี้คงเหลือแต่กำแพงด้านถนนจะนะ ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  (เรือนจำเก่า)  กับที่ถนนนครในเท่านั้น ใช้เวลาสร้างเมืองประมาณ 10 ปี หลังจากสร้างเมืองเสร็จ  ใน พ.ศ.2385 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไม้ชัยพฤกษ์หลักชัย และเทียนชัยมาพระราชทานแก่พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ปักหลักเมือง และได้สร้างตึกจีน กับศาลเจ้าเสื้อเมืองไว้หลังหนึ่ง เป็นศาลหลักเมือง ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนนางงาม ในเขตเทศบาลนครสงขลา
                       เมืองสงขลาบ่อยางมีเจ้าเมืองปกครอง 5 คน คือ
                       1. พระยาวิเชียรคีรี       (เถี้ยนเส้ง  ณ สงขลา)   พ.ศ. 2381 - 2390
                       2. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี  (บุญสังข์  ณ สงขลา)   พ.ศ. 2390 - 2408
                       3. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี  (เม่น  ณ สงขลา)   พ.ศ. 2408 - 2427
                       4. พระยาวิเชียรคีรี       (ชุ่ม  ณ สงขลา)   พ.ศ. 2427 - 2431
                       5. พระยาวิเชียรคีรี       (ชม  ณ สงขลา)   พ.ศ. 2431 - 2447
                       ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงดำเนินนโยบายปฏิรูป การปกครองประเทศ รวมเอาหัวเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นมณฑล มีสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ 
ในปีพ.ศ.2449 ได้รวมเมืองสงขลา เมืองพัทลุง และนครศรีธรรมราช ให้เป็นมณฑลนครศรีธรรมราช โดยมีที่ทำการตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง และมีตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลมาแทนที่
                       สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช ได้แก่
                       1. พระยาสุขุมนัยวินิต          (ปั้น  สุขุม)   พ.ศ. 2439 - 2448)
                       2. พระยาชลอุรานุรักษ์         (เจริญ  จารุจินดา)   พ.ศ.2449 - 2458)
                       3. กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์   พ.ศ.2458 - 2468
                
    จังหวัดสงขลาใต้ร่มพระบารมี
           นอกจากที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสงขลา ไปตั้งที่ตำบลบ่อยาง และพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักชัย และเทียนชัยมา ปักหลักเมือง สร้างศาลหลักเมืองแล้ว ในรัชสมัยต่อ ๆ มา ชาวสงขลาก็ได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์จักรี ดังนี้
         เมื่อวันที่ 20 - 28  สิงหาคม พ.ศ.2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินมาถึง ณ เมืองสงขลา  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรี ที่เสด็จถึงเมืองสงขลา ในครั้งนั้นโปรดให้เจ้าเมือง
ประเทศราชมลายูเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก ก่อให้เกิดความจงรักภักดีแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และทรงโปรดให้สร้างถนนไทรบุรี เป็นถนนเชื่อมระหว่างเมืองสงขลากับเมืองไทรบุรี และปีนัง ทำให้การติดต่อสะดวกมากขึ้น  และต่อมาในปี
พ.ศ.2409 ทรงเสด็จเมืองสงขลาอีกครั้ง และในครั้งนี้ ทรงพระราชทานเงินแก่เจ้าพระยาวิเชียนคีรี (เม่น  ณ สงขลา) เพื่อ
สร้างเจดีย์บนเขาตัวกวน
            พ.ศ.2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสเมืองสงขลา ในการเสด็จ
ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้และแหลมมลายู
           พ.ศ.2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จตรวจราชการ  มณฑลนครศรีธรรมราช ณ เมืองสงขลา ในครั้งนั้น ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของบรรดาเสือป่า และลูกเสือ ทรงพระราชทานธงประจำกองลูกเสือมณฑลนครศรีธรรมราช ณ เมืองสงขลา  และเสด็จทอดพระเนตรการซ้อมรบของเสือป่า ณ แยกคลองสำโรง สงขลา
           พ.ศ.2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ณ เมืองสงขลา โดยประทับอยู่ ณ พระตำหนักเขาน้อย เป็นเวลา 47 วัน ในวาระนั้น ทรงได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกร และโรงเรียนประจำมณฑลนครศรีธรรมราช (โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ในปัจจุบัน)  ในครั้งนั้น สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า และเจ้าฟ้าเพ็ชรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ขณะทรงพระชนมายุ 8 พรรษา ได้โดยเสด็จมาด้วย
          พ.ศ.2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเพื่อดำเนินพระราชกรณียกิจเยี่ยมราษฎรชาวสงขลา