พิพิธิภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง เรือพระราชพิธี
จำนวนผู้เข้าชม 3111


พิพิธิภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง เรือพระราชพิธี : www.virtualmuseum.finearts.go.th/royalbarges



เรือพระราชพิธี  : The Royal Barges Of Thailand
ราชยานสถิตตรึงตราพยุหยาตราชลมารค : A Legacy of Unforgettable Water-borne Procession
 
     แผ่นดินไทยกอปรด้วยแม่น้ำลำธารน้อยใหญ่ ผูกร้อยชีวิต ชาวประชามาแต่บรรพกาล สืบสานกิจวัตร  และศรัทธาเนิ่นนาน หลักฐานโบราณคดีบ่งบอกวิถีเชี่ยวชาญการใช้แพ - เรือของผู้คน นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จวบจนประวัติศาสตร์สมัยภาพวาดรูปเรือและชาวเรือบนผนังถ้ำ และผาหินริมฝั่งและบนเกาะแก่งน้อย - ใหญ่ ในภาคใต้ (500 ปีก่อนพุทธกาล) ภาพฝีพายร่วมกัน พายเรือยาวบนกลองมโหระทึก จากภาคตะวันตก  ภาคกลาง และภาคใต้ของไทย  (พุทธศตวรรษ ที่ 1 - 5)  ดินเผารูปเรือและคนบนเรือจากจังหวัดสงขลาในภาคใต้ (พุทธศตวรรษที่ 3 - 5)
 
    ประติมากรรมปูนปั้นรูปคนพายเรือสองคน ซึ่งประดับฐานเจดีย์จุลประโทน นครปฐม ในภาคกลาง (พุทธศตวรรษที่ 12 - 13) และรูปการปรากฏองค์ของพระโพธิสัตว์เบื้องหน้าคนโดยสารสี่คน และ ฝีพายสองคนบนเรือที่มีโขนเรือเป็นรูปเศียรนาคบนทับหลัง  ชิ้นหนึ่งของปราสาทพิมาย นครราชสีมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พุทธศตวรรษที่ 17) ฯลฯ ที่กล่าวมาทั้งปวงย่อมเป็นประจักษ์พยานภูมิปัญญาในวิถีชีวิตทางน้ำของผู้คนบนแผ่นดินนี้ หลักฐานจากศิลาจารึกและเอกสารบ่งบอกว่าราชอาณาจักรสุโขทัย ในลุ่มน้ำภาคกลางตอนบนซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 และดำเนินสืบต่อมาประมาณ 200 ปี ปรากฏการใช้กระบวนเรือหลวงเพื่อต้อนรับพระภิกษุที่จาริกกลับจากเกาะลังกาและมีการประกอบพระราช พิธีบางอย่างที่ใช้เรือหลวง กล่าวได้ว่ามี “เรือพระราชพิธี” นับแต่บัดนั้นในสมัยราชอาณาจักรอยุธยา (พุทธศักราช 1893 ถึง 2310) ปรากฏหลักฐานการดัดแปลงเรือรบ  มาเป็นเรือหลวงเพื่อเป็นพระราชยานการเสด็จฯ ทางน้ำ (พยุหยาตราชลมารค) และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
 
     โดยทั่วไปแล้วการใช้เรือหลวงในสมัยราชอาณาจักรอยุธยาเพื่อ "การพยุหยาตราชลมารค" ซึ่งมีความหมายว่าการสัญจรทางน้ำโดยใช้เรือ เป็นพาหนะในภารกิจของพระเจ้าแผ่นดิน   พร้อมด้วยผู้ติดตามเป็นขบวนจำนวนหนึ่งเช่นนี้เป็นไปตามราชประเพณี พระราชพิธีหรือรัฐพิธีสำคัญ 3 กรณี ได้แก่ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี และพระราชพิธีเนื่องด้วยพระบรมศพหรือพระศพ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินนั้น     เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางเรือไปยังพระอารามหลวงเพื่อถวาย ผ้าพระกฐินพร้อมเครื่องบริวารพระกฐินในช่วงการออกพรรษาตามขนบ  ประเพณีของพุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย หลักฐานเอกสารที่บอกถึงการเสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารคเพื่อถวายผ้าพระกฐินที่เก่าแก่ปรากฏในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พุทธศักราช 2173 - 2202) กล่าวว่ามีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือหลวง หรือ “เรือพระที่นั่งกิ่ง” จำนวนมากเพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
 
     อย่างไรก็ดีเอกสารสมัยกรุงศรีอยุธยาคือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” กล่าวว่า ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พุทธศักราช 2153 - 2171) มีรับสั่งให้เอากิ่งดอกเลาประดับเรือพระที่นั่ง ต่อมาภายหลังพนักงานจึงเขียนลายกิ่งไม้ประดับไว้ที่หัวเรือ โปรดเกล้าฯ ให้เรียกเรือชนิดนั้นว่า “เรือพระที่นั่งกิ่ง” ถือเป็นเรือชั้นสูงสุด  พระราชพิธีเสด็จฯ ไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีโดยชลมารค เริ่มขึ้นนับแต่การพบรอยพระพุทธบาท  ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ส่วนพระราชพิธีเนื่องด้วยพระบรมศพหรือพระศพปรากฏหลักฐานว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พุทธศักราช 2231 - 2246) มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนเรือพระราชพิธีนำพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากเมืองลพบุรีกลับมายังพระนครศรีอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนปลาย กระบวนเรือพระราชพิธีนอกจากใช้ในการแห่พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและสมเด็จพระราชินีแล้ว  ยังใช้ในการแห่พระอัฐิและพระอังคารของทั้งสองพระองค์อีกด้วย
 
     พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงชื่อเรือหลวง (เรือพระที่นั่งกิ่ง) ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พุทธศักราช 2091 - 2112) เช่น ชัยสุพรรณหงส์ ศรีสุพรรณหงส์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พุทธศักราช 2133 - 2146) เช่น สุพรรณวิมานนาวา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช 2199 - 2231) เช่น อลงกตนาวาศรีสมรรถไชย พระครุฑพาหนะ ชลวิมานกาญจนบวรนาวานพรัตนพิมานกาญจนอลงกตมหานาวาเอกชัยและจิตรพิมานกาญจนมณีศรีสมรรถชัย    ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พุทธศักราช 2231 - 2246) เช่น ไกรสรมุขพิมาน และในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ (พุทธศักราช 2245 - 2252) เช่น มหานาวาท้ายรถ
 
     เมื่อวิเคราะห์ตามความหมายของชื่อเรือหลวง  ซึ่งเป็นพระราชยานข้างต้น กล่าวได้ว่า น่าจะตั้งให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของเรือ ทั้งการตกแต่งโขนเรือ ที่สลักเป็นรูปหงส์ ครุฑ ราชสีห์ (ไกรสร) พระราชโองการในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงให้ช่างศิลป์วาดภาพเรือพระราชพิธีใน “ริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารค” ไว้ที่ผนังพระอุโบสถวัดยมในพระนครศรีอยุธยา นับเป็นคุณูปการที่ทำให้ความรู้เรื่องเรือพระราชพิธีในสมัยอยุธยาเป็นที่ประจักษ์ แม้ว่าภาพเขียนบนผนังนี้จะลบเลือนไปเกือบหมด แต่ได้มีการคัดลอกลงไว้ในสมุดไทยในปีพุทธศักราช 2440 และเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ที่กรุงเทพมหานคร จากสมุดภาพริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ทำให้ทราบถึงรูปลักษณ์ของเรือ ชื่อเรือ ตลอดจนชื่อบุคคลหรือขุนนางที่มีตำแหน่งประจำอยู่ในเรือแต่ละลำ ปรากฏชื่อเรือจำนวน 113 ชื่ออยู่ในสมุดไทยนี้ นับแต่นั้นมา คำว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค (กระบวน = แถวแนวตามแบบแผน พยุห = หมู่, กอง ยาตรา = การเดินทาง ชล = น้ำ มารค = วิถี/ทาง) เป็นที่ทราบกันดีว่า  หมายถึงการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำด้วยเรือพระที่นั่งที่มีเรือตามเสด็จฯ พร้อมพระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชบริพารเป็นกระบวนยาวไปตามแม่น้ำ
 
     สิ่งที่น่าสนใจยิ่งในภาพสมุดภาพฯ เล่มนี้คือ การจัดริ้วกระบวนเรือ ซึ่งนับได้ว่าเป็นกระบวนเสด็จพยุหยาตราชลมารคครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และได้รับการบันทึกไว้โดยชาวยุโรปเป็นภาพวาดกระบวนเรือพระราชพิธีซึ่งต่อมานำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือของบาทหลวงตาชาร์ด เรื่อง “การเดินทางไปสู่สยามของบาทหลวงคณะเยซูอิต” (พุทธศักราช 2229) และจากการบันทึกเรื่อง “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (พุทธศักราช 2224 - 2228) ของนิโกลาส์ แชรแวส นักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะบาทหลวงเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาและได้พรรณนาประสบการณ์การเฝ้ามองกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคเคลื่อนคล้อยไปตามลำน้ำ ประกอบด้วยเรือ ไม่น้อยกว่า 250 ลำ ล้วนตกแต่งวิจิตรอลังการ นับเป็นปรากฏการณ์ตรึงตราน่าตื่นตะลึงยิ่งในครั้งนั้น
 
     อย่างไรก็ตามชื่อเรือพระที่นั่ง    และเรือต่างๆ   ในริ้วกระบวนพยุหยาตรา  แต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามหลักฐานข้างต้น    แตกต่างอยู่มากกับชื่อเรือพระที่นั่งและเรือต่างๆ ที่ปรากฏในริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พุทธศักราช 2325 จนถึงปัจจุบัน) เมื่อตรวจสอบหลักฐานจากวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงพบว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีกวีแห่งราชสำนักคือพระศรีมโหสถ ได้แต่งบทกวีที่ใช้ในการเห่เรือในการเสด็จพยุหยาตราชลมารค ชื่อ “โคลงนิราศนครสวรรค์” ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2201 และในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พุทธศักราช 2275 - 2301) ปรากวรรณกรรมกาพย์ห่อโคลงของจินตกวีเอกแห่งสยามผู้มีผลงานตรึงใจ คือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐาสูริยวงษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศบทพระราชนิพนธ์นี้ กล่าวถึงกระบวนเรือในการเสด็จพยุหยาตราชลมารค ความพรรณนาที่ปรากฏในกาพย์ห่อโคลงนับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญ กล่าวคือ ชื่อเรือพระที่นั่งและเรือหลวงในกระบวนพยุหยาตรา ตลอดจนรูปลักษณ์ของเรือบางลำ เป็นเค้ามูลที่ชวนให้นึกถึงเรือพระที่นั่งและเรือหลวงบางลำ  ที่ปรากฏในปัจจุบันอันมีความพ้องกันในชื่อและรูปลักษณ์
 
     นอกจากนั้น กาพย์บางตอนยังกล่าวถึงการร้องเห่เรือของฝีพายและท่วงทำนองดนตรีที่ให้จังหวะในการพาย เช่น “พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา” และ “ดนตรีมี่อึงอล ก้องกาหลพลแห่โหม โห่ฮึกครึกครื้นโครม โสมนัสชื่นรื่นเริงพล” กาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศฯให้อิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างสรรค์งานนิพนธ์ที่ใช้ในการเห่เรือหรือบทชมกระบวนเรือในช่วงเวลาต่อมาจวบจนปัจจุบัน  ในสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏกวีนิพนธ์จำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพยุหยาตราชลมารค รวมถึงบทนิพนธ์ที่ใช้ในการเห่เรือ เช่น (1) ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง โดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) (พุทธศักราช 2340) (2) ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคแลทางชลมารค โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พุทธศักราช 2387) (3) โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พุทธศักราช 2418 - 2428) (4) กาพย์เห่เรือ โดยพระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ(พุทธศักราช 2475) (5) กาพย์เห่เรือฉลอง 25 พุทธศตวรรษ โดยนายหรีด เรืองฤทธิ์ (พุทธศักราช 2500) (6) กาพย์เห่เรือกระบวนพยุหยาตราอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร โดยท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา (พุทธศักราช 2525) (7) กาพย์แห่เรือชมพระราชพิธีเสด็จทางชลมารค โดยนายภิญโญ ศรีจำลอง (พุทธศักราช 2525) (8) กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ (พุทธศักราช 2531) และ (9) กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ โดยนาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย (พุทธศักราช 2555) เรือพระที่นั่งสร้างด้วยไม้ แบ่งได้เป็นสองประเภทได้แก่ เรือทอง และ เรือไม้เรือไม้ เป็นเรือที่สร้างขึ้นจากไม้ที่ใช้สร้างเรือทั่วไป สำหรับใช้เป็นเรือพระที่นั่งในการเสด็จฯส่วนพระองค์หรือใช้สอยในพระราชภารกิจทั่วไป ขณะที่ เรือทอง สร้างขึ้นจากไม้ที่คัดเลือกเป็นพิเศษและแกะสลักลวดลายตกแต่งลงรักปิดทอง เรือทองจึงใช้ในพระราชภารกิจที่สำคัญ หรือราชการสำคัญ เช่น งานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี เป็นต้นว่า เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน นับจากรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี (พุทธศักราช 2310 - 2324) จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พุทธศักราช 2468 - 2477) ริ้วกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคเคลื่อนไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาปรากฏสู่สายตาประชาชนไม่มากนัก  ส่วนใหญ่กระบวนเรือพยุหยาตราใช้ในพระราชพิธี หรือ รัฐพิธี ดังต่อไปนี้
 
(1) พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ปรากฏในพุทธศักราช 2325, 2326, 2344, 2394, 2410 และทุกปีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พุทธศักราช 2411 - 2453)
 
(2) พระราชพิธีแห่พระพุทธรูปที่อัญเชิญจากพระอารามแห่งหนึ่งไปประดิษฐาน ณ พระอาราม อีกแห่งหนึ่ง ใน   รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พุทธศักราช 2310)
 
(3) พระราชพิธีแห่พระสารีริกธาตุ หรือแห่พระพุทธรูปสำคัญที่อัญเชิญมาจากต่างแดน ในรัชสมัย
พระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (พุทธศักราช 2334) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พุทธศักราช 2361) และ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2370)
 
(4) เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ รัชกาลที่ 1 (พุทธศักราช 2328) รัชกาลที่ 4 (พุทธศักราช 2394) รัชกาลที่ 5 (พุทธศักราช 2416) รัชกาลที่ 6 (พุทธศักราช 2454) และรัชกาลที่ 7 (พุทธศักราช 2468)
 
(5) พระราชพิธีเนื่องในพระบรมศพและพระศพ กล่าวคือ นำพระบรมศพหรือพระศพลงสู่เรือพระที่นั่งแห่ไปยังพระเมรุมาศเพื่อถวายพระ เพลิง และนำพระอัฐิและพระสรีรังคาร (กระดูกและเถ้า) ลงสู่เรือแห่ไปสู่ปากน้ำเพื่อลอยพระอัฐิและพระสรีรังคาร เช่น พระบรมศพ ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าในรัชกาลที่ 1) พระศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในรัชกาลที่ 4)
 
(6) พระราชพิธีรับพระราชอาคันตุกะ เช่น การรับพระยาทวาย เจ้าเมืองทวายในดินแดนมอญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พุทธศักราช 2334)
 
(7) พระราชพิธีลอยพระประทีป ปรากฏในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อพุทธศักราช 2326 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 - 2394) โปรดเกล้าฯ ให้นำพระประทีปและให้จัดทำกระทงหลวงขนาดใหญ่ ลงเรือและนำไปลอยกลางแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมๆ กับการลอยกระทงของราษฎรตามประเพณีวันลอยกระทงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อพระราชพิธีสำคัญอันเนื่องด้วยเรือพระราชพิธี กล่าวคือ ในสมัยกรุงธนบุรีและ
     กรุงรัตนโกสินทร์ริ้วกระบวนพยุหยาตราปรากฏอยู่  ณ แม่น้ำเจ้าพระยาเสมอ จวบจนปัจจุบันพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตทรงตระหนักถึงความสำคัญของเรือพระราชพิธีที่เป็นสัญลักษณ์แห่งจารีตประเพณีแห่งรัฐ ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือหลวงหรือเรือพระที่นั่งเพื่อเป็นเกียรติยศในรัชกาลของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (พุทธศักราช 2325 - 2352) โปรดเกล้าฯ ให้ช่างสร้างเรือหลวงชื่อ เรือสุวรรณหงส์ เพื่อเป็นพระราชพาหนะและสำหรับการแห่พระพุทธรูปทางน้ำ ส่วนเรือที่มีโขนเรือรูปสัตว์ในตำนานปรัมปรา (หลายคนมักเรียกสัตว์หิมพานต์ อันที่จริงแล้วมิใช่อยู่ในหิมพานต์ทั้งหมด) บางลำก็สร้างขึ้นในรัชสมัยนี้  ส่วนเรืออนันตนาคราชนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 - 2391) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และมีบันทึกว่าในรัชกาลนี้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือขึ้น 24 ลำเพื่อใช้เป็นเรือพระที่นั่งหรือใช้ในพระราชภารกิจ อย่างไรก็ดีในเอกสารบางฉบับปรากฏชื่อเรือหลวงหรือเรือพระราชพิธี
 
     ที่มีอยู่ในรัชกาลนี้ถึง 56 ลำ และบอกรูปลักษณ์ของเรือพร้อมทั้งขนาดเรือแต่ละลำไว้ด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พุทธศักราช 2394 - 2411) โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและตกแต่งเรือหลวงลำเก่าๆ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือใหม่ขึ้นอีก 7 ลำ การจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีในสมัยนี้กล่าวได้ว่ามีการจัดริ้วกระบวน 2 อย่าง คือ กระบวนเรือพยุหยาตราใหญ่ชลมารค และ กระบวนพยุหยาตราน้อยชลมารค
 
     ในกรณีที่เป็นริ้วกระบวนพยุหยาตราใหญ่ชลมารค ประกอบด้วยเรือจำนวน 268 ลำ มีพลประจำเรือจำนวน 10,000 คน ประกอบด้วย นายเรือ นายท้าย ฝีพาย คนถือธงท้าย พลสัญญาณ คนถือฉัตรและ/หรือถือบังสูรย์ พัดโบก พระกลด คนขานยาวหรือคนเห่เรือ ส่วนริ้วกระบวนพยุหยาตราน้อยชลมารค มีริ้วขบวนที่มีเรือและพลประจำเรือน้อยกว่า เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 (พุทธศักราช 2411 - 2453) พระองค์โปรดการเสด็จฯ ทางน้ำเพื่อสอดส่องทุกข์สุขของราษฎรพร้อมด้วยข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จฯ เป็นกระบวนเรือหลายลำ และเมื่อราษฎรได้ทราบก็จะพายเรือมาเฝ้าแหนชื่นชมพระบารมีอย่างเนืองแน่นเสมอ  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (พุทธศักราช 2353 - 2468) จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับริ้วกระบวนเรือพยุหยาตราแต่โบราณ ทรงพบว่าการจัดกระบวนเรือทั้งสองอย่างคือกระบวนเรือพยุหยาตราใหญ่ชลมารค และ กระบวนพยุหยาตราน้อยชลมารคนั้น มีการจัดกระบวนในแต่ละคราวแตกต่างกันไปอยู่บ้าง มิได้เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงขอพระบรมราชานุญาตวางระเบียบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีเสียใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเห็นชอบและพระราชทานพระราชานุญาตให้ถือเป็นระเบียบปฏิบัติและได้ดำเนินการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราตามแบบนี้ตลอดรัชกาลและจนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พุทธศักราช 2468) ก็ยึดถือการจัดริ้วกระบวนตามแบบนี้เช่นกัน  อย่างไรก็ดีในพุทธศักราช 2475 เมื่อมีพระราชพิธีฉลองกรุงครบรอบ 150 ปี (ของกรุงเทพมหานคร) และเฉลิมฉลองราชวงศ์จักรีในคราวเดียวกันนั้น กระบวนพยุหยาตราชลมารคกลับไปใช้การจัดริ้วกระบวนตามแบบอย่างที่เคยใช้ในสมัย รัชกาลที่ 4 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขในพุทธศักราช 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติในพุทธศักราช 2477  พระราชพิธีเสด็จฯถวายผ้าพระกฐินประจำปีโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขาดหายไป  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พุทธศักราช 2582 - 2488) เรือพระราชพิธีถูกระเบิดสงครามจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานคร ทำลายเสียหายไปมากครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมเรือพระราชพิธีเพื่อนำมาใช้ในพระราชพิธีเสด็จพยุหยาตราชลมารคในวาระต่างๆ ตามแบบครั้งโบราณเพื่อฟื้นฟูราชประเพณีโบราณให้กลับฟื้นคืน
 
     ปัจจุบันการจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีในการเสด็จพยุหยาตราชลมารคเป็นไปในแนวทางการจัดกระบวนทัพเรือโบราณตามที่ปรากฏหลักฐานสมัยกรุงศรีอยุธยาที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีประกอบด้วยเรือ 52 ลำ จัดเรียงกันเป็นริ้วกระบวน 5 ริ้ว โดยตอนกลางของริ้วกระบวนที่ 3 หรือริ้วกระบวนกลาง ประกอบด้วย  เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ อเนกชาติภุชงค์ นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 สุพรรณหงส์ อนันตนาคราชเรียงตามลำดับจากหลังไปหน้ากระบวน ระหว่างเรือสุพรรณหงส์ และเรืออนันตนาคราช คั่นด้วยเรือเล็กๆ ลำหนึ่งเรียก เรือแตงโม หรือ เรือกลองใน (หมายถึงในกระบวน) เป็นเรือสำหรับผู้บัญชาการกระบวนเรือฯ หน้าริ้วกระบวนนี้มี เรืออีเหลือง ซึ่งถือเป็น เรือกลองนอก มีปี่ชวาและกลองแขกสำหรับบรรเลงนำหน้า ตามด้วย เรือตำรวจ ๒ ลำ ส่วนท้ายริ้วกระบวนมีเรือตำรวจ 1 ลำ ตามติด ปิดท้ายกระบวนด้วย เรือแซง ลำเล็กๆ ส่วนกลางของริ้วกระบวนแถวที่ 2 และ 4 หรือริ้วกระบวนที่ขนาบกระบวนเรือพระที่นั่ง ประกอบด้วยเรือ 8 ลำ นับจากหลังไปหน้ากระบวนตามลำดับดังนี้ เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรืออสุรวายุภักษ์  และ เรืออสุรปักษี หน้ากระบวนเรือเหล่านี้มีเรือนำ 1 คู่ คือ เรือเสือทะยานชล และ เรือเสือคำรณสินธุ์  และเรือ 2 คู่นำหน้าริ้วกระบวนทั้งหมด คือ เรือทองขวานฟ้า และ เรือทองบ้าบิ่น ริ้วกระบวนนอกสุดหรือริ้วกระบวนที่ 1 และที่ 5 ประกอบด้วยเรือเล็กๆ 22 ลำ เรียกว่า เรือดั้งและเรือเล็กๆ อีก 6 ลำ เรียก เรือแซง   ริ้วกระบวนเรือพยุหยาตราทั้ง 5 ริ้วนี้มีความยาวประมาณ 1,280 เมตร ความกว้าง 90 เมตร เรือทุกลำมีฝีพายและผู้ทำหน้าที่ต่างๆไม่ว่าจะเป็นฝีพาย นายเรือ นายท้าย คนถือธง พลสัญญาณ คนถือฉัตร/บังสูรย์/พัดโบก/กลด และคนเห่เรือเป็นกำลังพลประจำเรือ รวม 2,211 นาย ล้วนแต่เป็นเจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือไทยทั้งสิ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ริ้วกระบวนเรือฯ เคลื่อนไปตามลำน้ำเจ้าพระยาในพระราชพิธีและรัฐพิธีสำคัญ เนื่องในวโรกาสต่างๆ ดังนี้
 
(1) งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พุทธศักราช 2500 (ริ้วกระบวนพยุหยาตราใหญ่)
 
(2) พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พุทธศักราช 2502 2504 2505 2507 2508 และ 2510 (ริ้วกระบวนพยุหยาตราน้อย)
 
(3) งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525 (ริ้วกระบวนพยุหยาตราใหญ่)
 
(4) พิธีแห่พระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ไปตามลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อ ความเป็นสิริมงคลในประเพณีวันสงกรานต์ พุทธศักราช 2525  (ริ้วกระบวนพยุหยาตราน้อย)
 
(5) พิธีแห่พระพุทธนวราชบพิตรซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2525 (ริ้วกระบวนพยุหยาตราใหญ่)
 
(6) พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พุทธศักราช 2530 2539 2542 2550 และ 2555 (ริ้วกระบวนพยุหยาตราใหญ่)
 
(7) พระราชานุญาตให้จัดการแสดงกระบวนเรือฯ เพื่อเป็นอภินันทนาการแก่ผู้นำเอเปค 20 ประเทศที่มาประชุม ณ กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2546 (ริ้วกระบวนพยุหยาตราใหญ่)
 
(8) พระราชานุญาตให้จัดการแสดงกระบวนเรือฯ เพื่อการทอดพระเนตรของพระราชอาคันตุกะ จากประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ๒๕ ประเทศที่เสด็จฯ มาร่วมในพระราชพิธีมหามงคลการครองสิริราชสมบัติ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2549 (ริ้วกระบวนพยุหยาตราใหญ่)
       
        ปัจจุบันเรือพระราชพิธี  ทั้ง 52 ลำ เก็บรักษาไว้   ณ สถานที่ 3 แห่ง  ได้แก่
 
(1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ซึ่งเดิมเป็นอู่เรือเก่าปรับปรุงขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อ พุทธศักราช 2517  จัดแสดงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พร้อมทั้งเรือที่มีโขนเรือ 4 ลำ ประกอบด้วย  เรือเอกชัยเหินหาว  เรือครุฑเหินเห็จ  เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์
 
(2) อู่เรือหลวงที่ท่าวาสุกรี   ข้างหอสมุดแห่งชาติ มีเรือ 6 ลำประกอบด้วย เรือเอกชัยหลาวทอง  เรือครุฑเตร็จไตรจักร  เรือพาลีรั้งทวีป  เรือสุครีพครองเมือง   เรือกระบี่ราญรอนราพณ์   และเรืออสุรปักษี
 
(3) แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก เป็นอู่เรือของกองทัพเรือ มีเรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์  เรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น  เรือดั้ง  เรือแซง  เรือแตงโม  เรืออีเหลือง  ทุกลำเก็บรักษาไว้ที่นี่
     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ตั้งอยู่เลขที่ 80/1 ริมคลองบางกอกน้อย แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมในเวลา 09.00 - 17.00 นาฬิกา ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดขึ้นปีใหม่และวันหยุดสงกรานต์