อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง พนมรุ้ง
ถัดจากทางดำเนินเป็นสะพานนาคราชชั้นที่ 1 ก่อด้วยหินทราย ผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 8.20 เมตร ยาว 20 เมตร ยกพื้นสูงจากทางดำเนิน 1.50 เมตร ด้านหน้าและด้านข้างลดชั้นมีอัฒจันทร์รูปปีกกาเป็นบันไดทางขึ้นส่วนด้านหลังเป็นชานกว้างเชื่อมต่อกับบันไดทางขึ้นปราสาท เสาและขอบสะพานสลักลวดลายสวยงาม ราวสะพานทำเป็นรูปนาคห้าเศียร หันหน้าออกแผ่พังพานทั้งสี่ทิศ ลวดลายประดับรัศมีนาคเป็นแผ่นสลักลายในแนวนอนซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะเขมรแบบนครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 นอกจากนี้ทางทิศเหนือของสะพานมีทางเดินไปสู่สระน้ำปากปล่องภูเขาไฟ ก่อขอบทางเดินสองข้างด้วยศิลาแลง ถมด้วยดินอัดแน่น
กลางสะพานนาคราชมีลายสลักดอกบัวแปดกลีบล้อมรอบด้วยยันต์ขีดเป็นเส้นคู่ขนานไปกับราวสะพาน หัวยันต์ขมวดเป็นรูปกลีบดอกบัวซึ่งอาจหมายถึงยันต์สำหรับประกอบพิธีกรรมหรือเป็นจุดกำหนดที่ผู้มาสักการะตั้งจิตอธิษฐานต่อเทพเจ้า ส่วนดอกบัวแปดกลีบอาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดู นอกจากนี้สะพานนาคราชอาจเปรียบได้กับสะพานเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า โดยราวสะพานรูปนาคเทียบได้กับสายรุ้งซึ่งคนโบราณมักเปรียบว่าเป็นงู (นาค) หลากสีที่ชูหัวขึ้นไปยังท้องฟ้าหรือกำลังดื่มน้ำจากทะเล และบ่อยครั้งที่เกิดรุ้งกินน้ำคู่ซึ่งแสดงถึงทางเดินของเทพเจ้าไปสู่ท้องฟ้า จึงอาจเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างนาคราวสะพานอันเปรียบเสมือนตัวแทนของทางเดินแห่งเทพเจ้าที่จำลองมาไว้บนโลกมนุษย์