อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เว็ปไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา: www.finearts.go.th/ayutthayahistoricalpark

1. ที่ตั้ง
       อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ 1,810 ไร่ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา เขตเทศบาลเมือง พระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ไม่สุภาพงจากกรุงเทพฯไปทางทิศเหนือ ตามถนนสายเอเซีย ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร
      กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ 3,000 ไร่
   
2. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
     ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.1893 นั้น นักวิชาการเชื่อกันว่า บริเวณดังกล่าวได้มีบ้านเมือง ตั้งอยู่ก่อน แล้วเรียกว่า เมืองอโยธยา หรืออโยธยาศรีรามเทพนคร มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา ปรากฏ หลักฐานโบราณสถาน ที่เป็นวัดสำคัญ เช่น วัดมเหยงค์ และวัดอโยธยา เป็นต้น รวมทั้งจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ กล่าวถึงการก่อสร้าง พระพุทธรูปที่เรียกว่า พระเจ้าพนัญเชิง พระประธานของวัดพนัญเชิง ที่ระบุว่า สร้างขึ้นก่อนที่ พระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี
     ด้วยทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นเกาะเมืองมีแม่น้ำที่สำคัญ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน รวมทั้งเป็นชุมทางคมนาคม และเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึก ศัตรู กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นราชธานีใหญ่สามารถกุมอำนาจเหนือเมืองใกล้เคียงเป็นเวลานาน
     กรุงศรีอยุธยาเติบโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของภูมิภาคเอเซีย ในพุทธศตวรรษที่ 20-23 มีชาวต่างชาติ ทั้งจากเอเซีย และยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เดินเรือเข้ามา ค้าขาย ซึ่งส่วนมาก มีสัมพันธ์ทางการทูตด้วย บ้างก็ได้รับพระราชทานที่ดินตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ตั้งสถานีการค้า และศาสนสถาน หมู่บ้านส่วนใหญ่ ของชาวต่างประเทศจะอยู่นอกตัวเมืองมีเฉพาะชาวจีน แขกฮินดู และมุสลิมเพียงบางกลุ่ม ซึ่งมีความสัมพันธ์ ใกล้ชิดกับราชสำนักเท่านั้น ที่ได้รับพระราชานุญาตให้สร้างบ้านเรือนอยู่ภายในเมือง
     นอกจากนี้ กรุงศรีอยุธยายังมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการปกครอง กฎหมายการศาล ระบบสังคม การศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ ภาษาวรรณกรรม และนาฏดุริยางค์ศิลป์ศิลปะ วิทยาการทุกแขนง ที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาสั่งสมไว้นั้น เป็นอารยธรรมที่ กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ยึดถือเป็นแบบแผน สืบทอดและพัฒนา เป็นอารยธรรมตามยุคสมัย หลายอย่างยังคงใช้สืบต่อมาตราบจนทุกวันนี้

3. โบราณสถานสำคัญ
     ด้วยเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทั้งเกาะเมืองมีพื้นที่ประมาณ 4,800 ไร่ ลักษณะ ของเกาะเมืองเป็นไปตามสภาพของแม่น้ำที่กัดเซาะแผ่นดินมีรูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งมีผู้สันนิษฐานว่า มีลักษณะคล้ายน้ำเต้า
     แต่เดิมกำแพงเมืองเป็นคันดินและมีเสาไม้ระเนียด ต่อมามีการเปลี่ยนเป็นกำแพงอิฐในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091-2111) และถูกทำลายในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 รวมทั้งมีการรื้อถอนกำแพงเมืองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อนำอิฐมาใช้ ในการก่อสร้างที่กรุงเทพฯ และป้องกันไม่ให้มีการใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ซ่องสุมผู้คนอีกต่อไป
     กรุงศรีอยุธยาเป็นลักษณะของเมืองน้ำ มีการออกแบบแนวคูคลองที่ทั้งใช้ประโยชน์ในการคมนาคม และเป็นการระบายน้ำในหน้า น้ำหลากด้วย ทำให้ผังเมืองอยุธยามีแม่น้ำลำคลองจำนวนมากเป็นเครือข่ายโยงใยกันทั้งนอกเมืองและในเมืองขนานไปกับแนวคูคลอง คือ ถนนที่เป็นทั้งถนนดินและถนน ปูอิฐ โดยมีสะพานสร้างข้ามคลองทั้งสะพานไม้และสะพานก่ออิฐมากกว่า 30 แห่ง โบราณสถาน เท่าที่สำรวจพบแล้วทั้งภายในเมืองและนอกกำแพงเมืองมีมากกว่า 425 แห่ง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโบราณสถานที่สำคัญ และอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาพื้นที่ 1,810 ไร่ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเกาะเมืองและพื้นที่ด้านทิศเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ ของเกาะเมือง มีโบราณสถานที่สำรวจพบแล้วทั้งสิ้น 95 แห่ง ดังนี้ 

     3.1 พระราชวังโบราณหรือพระราชวังหลวง พระราชวังโบราณ เป็นที่อยู่ของพระมหากษัตริย์และเป็นทั้งศูนย์กลางด้านการเมืองและการปกครองในเวลาเดียวกัน เมื่อแรกสร้าง กรุงศรีอยุธยานั้นพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. 1893-1912) ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพระศรีสรรเพชญ์

     3.2 วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสมัยอยุธยา เดิมเป็นพระราชวังที่ประทับซึ่งสมเด็จ พระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลสมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991 โปรดให้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ทางด้านริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังให้เป็นวัดสำหรับ ประกอบ พิธีต่าง ๆ

     3.3 วัดราชบูรณะ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 1967 ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากการรบแย่งชิง ราชสมบัติ
    3.4 วิหารพระมงคลบพิตร พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ. 2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้บูรณะวิหาร พระมงคลบพิตรใหม่ทั้งหมดดังที่ปรากฏในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังมีโบราณสถานที่ สำคัญแห่งอื่นอีก เช่น วัดพระราม วัดญาณเสน วัดธรรมิกราช วัดวรโพธิ์ วัดวรเชษฐาราม เป็นต้น
     อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าโดดเด่น จนได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีมรดกโลก จากการประชุม ณ กรุงคาร์เรจ ประเทศตูนิเซีย ในปี พ.ศ.2536 ด้วยหลักเกณฑ์ที่ว่า เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยาน หลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว

4. การบริการและการท่องเที่ยว
     จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือ ทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัด ปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทาง สู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และ อำเภอภาชี ทางเรือ ปัจจุบันการเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยทางน้ำ เป็นที่นิยมของ นักท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะได้ ชมทัศนียภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังเป็นการย้อนให้เห็นถึงประวัติศาตร์สมัย กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติโดยทางเรือบนแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้

บริษัทเรือนำเที่ยวไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
     - บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด              โทร. 02 222-5330, 02 225-3002-3
     - เรือโอเรียนเต็ลควีน                              โทร. 02 236-0400-9
     - เรือริเวอร์ซันครุ้ยส์                                โทร. 02 266-9125-6
     - เรือฮอไรซันครุ้ยส์                                โทร. 02 236-7777 ต่อ 1204-5
     - บริษัท เรือเบญจรงค์ จำกัด                   โทร. 0235 211036

การเที่ยวชม      เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 18.00 น.
                        อัตราค่าเข้าชม ผู้มีสัญชาติไทย 10 บาท
                        ผู้มีสัญชาติอื่น 40 บาท

การท่องเที่ยว    สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 035 245123-4
                        สำนักงาน ททท. 035 246076-7 หรือ 1672

โรงแรมที่พัก     อยุธยาแกรนด์โฮเต็ล 035 335483
                       กรุงศรีริเวอร์ 035 244333
                       อโยธยา 035 252249
                       อู่ทองอินน์ 035 242236
                       บ้านไทยเกสท์เฮ้าส์ 035 242394

ร้านอาหารแนะนำ ก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยาหลังวัดจีน ส้มตำบึงพระราม ร้านอาจารย์สุกัญญา

ตำรวจท่องเที่ยว 035 242352 หรือ 1155 ตำรวจทางหลวง 035 361059 หรือ 1193

สินค้าพื้นเมือง เครื่องหวาย เครื่องจักสาน มีดอรัญญิก ปลาตะเพียนสาน โรตีสายไหม


Messenger