ตู้พระธรรม บนฐานแบบขาหมูเขียนภาพทวารบาล ภาพอมนุษย์ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ออกเถาหัวนาค หัวครุฑ เคล้าภาพหน้าขบ ลายกนกเปลวเครือ เถา ครุฑคาบ นาคคาบ (อย.๒๗)
ฝีมือช่าง : สมัยอยุธยา
ประวัติ : เดิมอยู่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย : ตู้ลายรดน้ำกนกเปลวเครือเถาครุฑคาบนาคคาบ ออกเถาหัวนาค หัวครุฑ เคล้าภาพหน้าขบพุ่มข้าวบิณฑ์ภาพบุคคลยืนโดดเดี่ยวเต็มเนื้อที่ ภาพจับ ภาพอมนุษย์ และภาพเล่าเรื่องในชาดก
เสาขอบตู้ เสาขาตู้ ขอบบน ขอบล่าง ลงทองทึบ ๔ ด้าน
เชิงตู้ ๔ ด้านทำเป็นรูปปากสิงห์ตกแต่งลวดลายเพียง ๓ ด้าน โดยเฉพาะที่มุมบนของเชิงตู้ทั้ง ๓ ด้าน เขียนเป็นลายค้างคาว ด้านหน้าตกแต่งด้วยลายก้านขด มีพุ่มข้าวบิณฑ์อยู่กึ่งกลางเหนือจมูกสิงห์ มีรูปราชสีห์ขนาบพุ่มข้าวบิณฑ์ ๒ ข้าง ๆ ละ ๑ ตัว ด้านข้างขวาตกแต่งด้วยลายกนกเปลวมีหน้าขบตรงกลางเหนือจมูกสิงห์ด้านข้างซ้ายตกแต่งด้วยลายก้านขดมีออกเถาเทพบุตรพนมมือครึ่งตัวอยู่ ๒ ข้างพุ่มข้าวบิณฑ์ ตรงกลางซึ่งอยู่เหนือจมูกสิงห์พอดี ด้านหลังลงทองทึบ
หลังตู้ มีเสาหัวเม็ดทรงมัน ๔ เสา ที่หัวเม็ดจำหลักเป็นริ้วคล้ายกลีบบัว ที่คอเสาใต้หัวเม็ดจำหลักเป็นรูปกระจังรวนโดยรอบ เสาหัวเม็ดทั้งหมดนี้ลงทองทึบ