ตู้พระธรรม บนฐานแบบขาหมูภาพจับจากเรื่อง รามายณะ ลายกนกเปลวเครือเถาไขว้นาคคาบ ครุฑคาบ (อย.๑๓)
ฝีมือช่าง : สมัยอยุธยา
ประวัติ : เดิมอยู่วัดจันทร์ จังหวัดเพชรบุรี
ลักษณะลาย : ตู้ลายรดน้ำ แต่ละด้านตกแต่งภาพภายในกรอบที่กรอบทั้ง ๔ ด้าน ตกแต่งด้วยลายเครือเถาเลื้อยแบบประดิษฐ์อย่างใหม่ ภายในกรอบตกแต่งด้วยลายกนกเปลวเครือเถาไขว้ นาคคาบ ครุฑคาบ ออกเถาช่อเปลวหางโตซึ่งเกี่ยวกระหวัดรัดพันเถากนก เริ่มต้นต่อออกเป็นกนกเถาใหม่สอดเกี่ยวเลื้อยพันกันขึ้นไปเป็นกนกช่อใหญ่ โดยมิได้เริ่มต้นเถากนกจากส่วนล่างอันเป็นภาพพื้นดินทุก ๆ ต้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้กนกแต่ละเถาจะเริ่มต้นเถากนกจากส่วนใดของภาพก็ได้ และมองดูงดงามกลมกลืนกันไปทุกแง่มุมของเส้นลาย เคล้าภาพลิง ภาพจับบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์และภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์
ด้านหลัง ลงรักดำทึบ ตั้งแต่ขอบบนถึงเชิงตู้ลงรักดำทึบเช่นกัน
เสาขอบตู้ ๓ ด้าน ตกแต่งด้วยลายรักร้อยบัวร้อย มีลายกรวยเชิงเป็นที่สุดตอนบนและตอนล่าง
เสาขาตู้ ๓ ด้าน ตกแต่งด้วยลายกรวยเชิง
ขอบบน ขอบล่าง ตกแต่งด้วยลายรักร้อยบัวร้อย เหนือลายบัวเฉพาะขอบล่างมีลายบัวคว่ำ
เชิงตู้ ทำเป็นรูปปากสิงห์ ๔ ด้าน ตกแต่งลายเพียง ๓ ด้าน คือด้านหน้าตกแต่งเป็นภาพจำหลักไม้นูนต่ำบนพื้นรักแดง ตัวลายลงทองทึบ ลวดลายดังกล่าวตรงกึ่งกลาง เหนือจมูกสิงห์จำหลักเป็นรูปลูกแก้ว มีภาพปลา ๑ คู่ หันหัวหางแก่กัน ๒ ข้างขวาซ้าย มีภาพสัตว์ในเทพนิยายจีนเรียกว่าตัวเลเวน ข้างละ ๑ ตัว นอนทอดตัวหันหัวออกทางขวาและซ้าย มีลายรูปเมฆประกอบทั้งหมดน่าจะเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ของ ฮก ลก ซิ่ว ด้านข้างขวาซ้าย จำหลักไม้ลายนูนต่ำเป็นลายก้านขด มีลายเมฆประกอบ พื้นหลังลงรักแดงทึบ ตัวลายลงทองทึบ