ตู้พระธรรม บนฐานสิงห์เขียนลายนาคคาบ ครุฑคาบ ออกเถา เทพนม เทพรำ ภาพคน สัตว์ ลายกนกเปลวเครือเถา (อย.๒๒)
ฝีมือช่าง : สมัยอยุธยา
ประวัติ : เดิมอยู่วัดจันทารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย : ตู้ลายรดน้ำ กนกเปลวเครือเถา นาคคาบ ครุฑคาบ ออกเถาหัวนาค หัวครุฑ หัวนก หัวคชสีห์ ออกเถาเทพพนมครึ่งตัว เทพรำครึ่งตัว เคล้าภาพคน สัตว์ สัตว์หิมพานต์ ภาพจับ ภาพเทวดายืนโดดเดี่ยวและภาพเล่าเรื่อง
ด้านหลัง เป็นประตูตู้ทำด้วยกระจก ซึ่งทำขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อใช้
เปิดปิดแทนด้านหน้าเป็นการป้องกันมิให้ภาพลายทองหมอง
เสาขอบตู้ ๔ ด้าน ตกแต่งลายที่มุมเสาขอบตู้ด้วยลายรักร้อยบัวร้อย มีลายกาบพรหมสิงห์และกาบพรหมศรเป็นที่สุดตอนบนและตอนล่าง
ขอบบน ขอบล่าง ๓ ด้าน คือด้านหน้า ด้านข้าง ขวา ซ้าย ตกแต่งด้วยลายประจำยามลูกฟักก้ามปู เหนือลายบัวรวน ด้านหลังลงทองทึบ
ท้องไม้ มีเส้นขอบบัวคั่นกลาง ตัวลวดบัวตกแต่งด้วยลายรักร้อยบัวร้อย ท้องไม้ประดับกระจกสีขาว ๔ ด้าน
ฐานสิงห์ ตกแต่งเหมือนกัน ๔ ด้านคือ บัวหลังสิงห์ลงทองทึบที่ปากสิงห์ และจมูกสิงห์จำหลักไม้นูนต่ำ ลายกนกผักกูด และจำหลักลายน่องสิงห์เป็นขอบนอก ที่มุมเท้าสิงห์ ๔ ด้านจำหลักนูนต่ำเป็นรูปกาบเท้าสิงห์ ลวดลายที่ฐานสิงห์ทั้งหมดลงทองทึบ
ด้านในของบานประตูตู้ขวาซ้าย ตกแต่งเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ดอกลอยบนพื้นรักแดงเรียงเป็นแถวตลอดเนื้อที่