ตู้พระธรรม บนฐานแบบขาหมูเขียนภาพพุทธประวัติ ลายกนกเปลว เครือเถาไขว้และภาพสัตว์ต่างๆ (อย.๔)
ฝีมือช่าง : สมัยอยุธยา
ประวัติ : เดิมอยู่วัดไทรสุวรรณ กรุงเทพมหานคร
สภาพ : สีทองหมองและลบเลือนมากในบางตอน บานประตูตู้มีรอยเสริมใหม่ด้วยไม้และสังกะสีที่มุมขอบของประตูตอนบนและตอนล่าง สภาพทั่วไปแข็งแรง
ลักษณะลาย : ตู้ลายรดน้ำกนกเปลวเครือเถาไขว้ ครุฑคาบ นาคคาบ ออกเถาหัวครุฑ กุมารพนมครึ่งตัว เทวดาครึ่งตัว ยักษ์ครึ่งตัว เคล้าภาพสัตว์ นก กระรอก ในระหว่างเถากนก เคล้าภาพพุ่มข้าวบิณฑ์หัวนาค พุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบ ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภาพสัตว์หิมพานต์ ภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและเรื่องอันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า
ด้านหลัง ลงรักดำทึบตลอดถึงขาตู้
เสาขอบตู้ ขอบบน ขอบล่าง และลวดบัว ๓ ด้าน คือ ด้านหน้า ด้านข้าง ขวาและซ้ายลงทองทึบ เฉพาะขอบล่างด้านหน้ามีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า :-
........เดียนได้...เสดวันได้ ๒๖ วันประจุบันวัน ๔ + ๓ คำ ปีรกาเอกศก ฯ|
สาขาตู้ ๓ ด้าน เขียนภาพครุฑยุดนาคที่มุมขาตู้ทั้ง ๓ ด้าน อยู่ตอนบน ตอนล่างลงรักแดงทึบ
เชิงตู้ ๓ ด้าน ทำเป็นรูปหูช้าง ปลายหูช้างด้านที่ติดกับขอบล่างของตู้ยาวออกไปมากจนจรดกับหูช้างทุกอันเขียนลายก้านขด