ตู้พระธรรม บนฐานสิงห์เขียนลายกนกรวงข้าว ภาพนกนานาชนิด และ สัตว์อื่น ๆ (อย.๗)


ฝีมือช่าง :          ครูวัดเซิงหวาย สมัยอยุธยา
ประวัต :             เดิมอยู่วัดเกศ  กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย :    ตู้ฐานสิงห์ โครงสร้างของขอบบนและขอบล่างของตู้ตกท้องช้างอ่อนโค้งเล็กน้อย เป็นลักษณะที่เรียกว่าฐานเรือสำเภา ซึ่งเป็นแบบเดียวกับฐานของสถาปัตยกรรมโบสถ์วิหารสมัยอยุธยา เป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดบ่งถึงลักษณะของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาอย่างแท้จริง เป็นศิลปที่สูงล้ำด้วยฝีมือในเชิงผสมผสานความงามอย่างแช่มช้อยควบคู่เข้ากับความแข็งแกร่งของรูปทรงของตู้ ผนังตู้ทั้ง ๔ ด้าน คือด้านหน้าซึ่งทำบานประตูปิดเปิด ด้านข้างขวา ด้านข้างซ้าย และด้านหลังเขียนลายรดน้ำกนกรวงข้าวตกแต่งเต็มเนื้อที่ ซึ่งจะได้พรรณนาโดยละเอียดในตอนต่อไปขอบบนขอบล่างและฐานสิงห์ ศิลปินได้บรรจงจำหลักลายบนเนื้อไม้อย่างสวยงามและได้สัดส่วน อีกทั้งประดับกระจกสีเขียว เพื่อให้กระบวนสีทองของทองคำเปลวที่ปิดบนเนื้อไม้สีเขียวของกระจกและสีแดงของรักแดงซึ่งลงเป็นพื้นหลังของลายขับสีที่ตัดกัน และเน้นให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ตู้ไทยโบราณหลังนี้กล่าวกันว่าเป็นฝีมือบรมครูวัดเซิงหวาย ซึ่งเป็นแบบฉบับลายกนกรวงข้าวที่นำช่อกนกเปลวมาตกแต่งเป็นรวงข้าวให้ดูสวยงามวิจิตรตระการตายิ่ง
                         เสาขอบตู้  ทั้ง ๔ ด้านลงทองทึบ
                         ขอบบน  จำหลักไม้ลายประจำยามลูกฟักก้ามปู ประดับกระจกสีเขียวไว้ที่ส่วนกลางของลาย ส่วนอื่น ๆ ลงทองทึบทั้ง ๔ ด้าน และจำหลักลายบัวรวนลงทองทึบรองรับไว้ชั้นแรก ต่ำลงมาเล็กน้อยจำหลักลายบัวคว่ำหรือลายบัวถลา ประดับกระจกสีเขียวและลงทองทึบรองรับต่อจากชั้นแรก
           ขอบล่าง  ทั้ง ๔ ด้านเป็นฐานรองรับ ๓ ชั้น ชั้นแรกเรียกว่าฐานปัทม์ กล่าวคือจำหลักลายบัวหงายเป็นบัวปากฐานประดับกระจกสีเขียวและลงทองทึบ บนส่วนที่ไม่ได้ประดับกระจกลายบัวหงายนี้อยู่บนขอบหน้ากระดานที่จำหลักลายประจำยามลูกฟักก้ามปู ประดับกระจกสีเขียวและลงทองทึบ มีไม้จำหลักรูปบัวรวนซึ่งลงทองทึบไว้รองรับไว้อีกชั้นหนึ่ง ต่ำลงมาเป็นท้องไม้ซึ่งเจาะเป็นช่อง ๆ จำหลักลายลูกฟัก มีลายดอกจอกเคล้าลายกนกอยู่บนแผ่นหลังสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน คั่นด้วยลูกตั้งซึ่งประดับด้วยกระจกสีเขียว ท้องไม้ด้านหน้าและด้านหลังเจาะไว้ด้านละ ๓ ช่อง ด้านข้างขวาซ้าย ด้านละ ๒ ช่อง ฐานชั้นที่สองเรียกว่าฐานชั้นสิงห์ ประกอบด้วยบัวหลังสิงห์อยู่เหนือส่วนที่เรียกว่าลายสิงห์ ปากสิงห์หรือท้องสิงห์ จมูกสิงห์และกาบเท้าสิงห์จำหลักลายกนกนูนต่ำ เฉพาะจมูกสิงห์ ปากสิงห์และกาบเท้าสิงห์เท่านั้น ส่วนอื่น ๆ ลงทองทึบตลอดทั้งฐาน ชั้นสิงห์ฐานชั้นที่สามเป็นฐานเขียงจำหลักลายบัวหงายประดับกระจกสีเขียวรองรับฐานชั้นสิงห์ไว้ ส่วนฐานเขียงลงรักแดงทึบตลอด
 


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

Messenger