...

๔ พฤศจิกายน ครบรอบ ๓๔ ปี ชุมพรในเส้นทางผ่านของพายุไต้ฝุ่นเกย์
๔ พฤศจิกายน ครบรอบ ๓๔ ปี ชุมพรในเส้นทางผ่านของพายุไต้ฝุ่นเกย์ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร


ช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๓๒ มีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นที่บริเวณปลายแหลมญวน ชายฝั่งประเทศเวียดนาม และเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก หย่อมความกดอากาศต่ำนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นดีเปรสชัน เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ บริเวณตอนใต้ของอ่าวไทย และทวีกำลังแรงต่อเนื่องเป็นพายุโซนร้อนในเวลาต่อมา โดยถูกตั้งชื่อเรียกว่าพายุโซนร้อน “เกย์” ซึ่งยังคงทวีกำลังแรงขึ้นอีกจนกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ต่อมาพายุไต้ฝุ่น “เกย์” ได้ทวีกำลังแรงขึ้น โดยมีอัตราเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุถึง ๑๐๐ นอต หรือประมาณ ๑๘๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วของพายุไต้ฝุ่นระดับ ๓ ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณรอยต่อระหว่าง อ.ปะทิว กับ อ.ท่าแซะ จังหวัดชุมพร 
ในตอนเช้าของวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. แล้วเคลื่อนผ่านลงทะเลอันดามันในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ต่อไปยังมหาสมุทรอินเดียเหนือและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพายุไซโคลน KAVALI หลังจากนั้นได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ ๕ ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งไปยังรัฐอานธรประเทศ รัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของประเทศอินเดีย แล้วสลายตัวไปบริเวณเหนือเทือกเขากัตส์ตะวันตก เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
ทำไม ? พายุไต้ฝุ่น “เกย์” จึงเป็นพายุลูกประวัติศาสตร์
๑. เป็นพายุลูกแรกและลูกเดียว (ตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลจนถึงปี ๒๕๖๑) ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในขณะที่เป็นพายุไต้ฝุ่น
๒. เป็นพายุไต้ฝุ่นลูกแรกและลูกเดียวที่ก่อตัวขึ้นในบริเวณอ่าวไทย ซึ่งเป็นอ่าวที่มีขนาดเล็ก มีพื้นที่แคบ รวมทั้งยังอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร การก่อตัวของพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากการทวีกำลังแรงขึ้นอย่างกะทันหันในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน อุณหภูมิของน้ำทะเลจะต้องใกล้เคียงหรือมากกว่า ๓๐ °C ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างอุ่น อีกทั้งช่วงความอุ่นของน้ำทะเลจะต้องอุ่นลึกลงไปมากพอที่คลื่นของน้ำที่เย็นกว่าจะไม่เข้ามาแทรกอยู่บนผิวน้ำ ซึ่งอ่าวไทยเป็นอ่าวน้ำตื้น ต่างกับทะเลฟิลิปินส์ที่จะเกิดพายุได้ง่ายกว่า ส่วนลมเฉือนจะต้องมีกำลังน้อย เพราะหากเมื่อลมเฉือนมีกำลังมาก การพาความร้อน และการหมุนเวียนในพายุหมุนจะถูกทำให้กระจาย และส่งผลให้ทวีกำลังไม่สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น การพัฒนาตัวเป็นพายุไต้ฝุ่นจึงเป็นไปได้ยาก
๓. เป็นพายุ ๒ มหาสมุทร ในขณะที่เคลื่อนตัวอยู่บริเวณอ่าวไทย (ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก) ถูกตั้งชื่อว่า พายุไต้ฝุ่น "เกย์ (GAY) ซึ่งมีความแรงสูงสุดในเกณฑ์ ไต้ฝุ่นระดับ ๓ หลังจากเคลื่อนผ่านภาคใต้ของไทยลงสู่ทะเลอันดามันและเคลื่อนตัวต่อไปยังมหาสมุทรอินเดีย ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นพายุไซโคลน Kavali ซึ่งความแรงสูงสุดในเกณฑ์ ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ ๕
๔. เป็นไต้ฝุ่นกำลังแรงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าไต้ฝุ่นลูกอื่น ๆ ที่มีกำลังแรงเท่ากัน
๕. เป็นพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดขณะขึ้นฝั่งเท่าที่เคยมีมาในคาบสมุทรมลายู
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ พายุไต้ฝุ่นเกย์ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง ๔๔๖ คน บาดเจ็บ ๑๕๔ คน บ้านเรือนเสียหาย ๓๘,๐๐๒ หลัง ประชาชนเดือดร้อน ๑๕๓,๔๗๒ คน เรือล่ม ๓๙๑ ลำ ถนนเสียหาย ๕๗๙ เส้น สะพาน ๑๓๑ แห่ง ทำนบและฝาย ๔๙ แห่ง โรงเรียนพัง ๑๖๐ โรง วัด ๙๓ วัด มัสยิด ๖ แห่ง พื้นที่การเกษตร ๘๐,๙๐๐,๑๐๕ ไร่ (๑๒๙,๔๔๐.๑๖๘ ตร.กม.) สัตว์เลี้ยงตาย ๘๓,๔๙๐ ตัว ประเมินความเสียหาย ๑๑,๒๕๗,๒๖๕,๒๖๕ บาท 
นอกจากนี้ยังมีรายงานเรือขุดเจาะน้ำมันซีเครสต์อับปางลงนอกชายฝั่ง มีลูกเรือเสียชีวิต ๙๑ คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๕๓๗ คน เช่นเดียวกับความเสียหายอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับปะการังนอกชายฝั่งประเทศไทย พายุไต้ฝุ่นเกย์ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุดในรอบ ๒๗ ปี นับตั้งแต่พายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ส่วนทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๑ หมื่นล้านบาท เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ ๕๐๐ ลำ นับเป็นการสูญเสียจากพายุไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
 
อ้างอิง 
- https://tiwrmdev.hii.or.th/current/1989/gay/main.html
- National Oceanographic and Atmospheric Administration : NOAA, www.digital-typhoon.org
- https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1416990
- https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_3913

(จำนวนผู้เข้าชม 541 ครั้ง)


Messenger