...

องค์ความรู้ : ประเพณีอันล้ำค่าของไทย เรื่อง ตำนานนางสงกรานต์

จากแผ่นจารึกในแผ่นศิลา เรื่องมหาสงกรานต์ กล่าวถึงเรื่องราวของเศรษฐีคนหนึ่งผู้มีสมบัติมากมายแต่ไม่มีบุตร อยู่บริเวณใกล้บ้านกับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน มักกล่าววาจาเยาะเย้ยดูแคลนด้วยคำหยาบคาย ดูหมิ่นในทำนองว่าถึงจะรวยอย่างไรแต่ก็ไม่มีบุตรสืบสกุลตายไป สมบัติก็สูญเปล่า หลังจากนั้นเศรษฐีรู้สึกเสียหน้าจึงได้บวงสรวงพระจันทร์และพระอาทิตย์ ตั้งจิตอธิษฐานเมื่อเวลาผ่านไปสามปีก็ยังไร้วี่แววที่จะมีบุตร

ต่อมาพอถึงช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษในวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ของชาวชมพูทวีป เศรษฐีได้พาบริวารไปอธิษฐานขอบุตรตรงต้นไทรริมฝั่งน้ำ และได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงข้าวบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรตลอดจนบวงสรวงด้วยดนตรีประโคม ซึ่งรุกขเทวดาเกิดความเมตตาได้เห็นใจเศรษฐี จึงไปขอเข้าเฝ้าพระอินทร์ ท่านจึงเมตตาประทาน ธรรมบาลเทวบุตร ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดจึงชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร พร้อมได้ปลูกปราสาท ๗ ชั้น ไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

เมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภท ซึ่งเป็นคัมภีร์แสดงลัทธิไสยศาสตร์ดั้งเดิมของพราหมณ์ ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท จบเมื่ออายุเพียง ๗ ขวบ ต่อมา เป็นอาจารย์ด้านมงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง ในขณะเดียวกันนั้นทำให้ท้าวกบิลพรหม เป็นผู้ทำหน้าที่แสดงในเรื่องของมงคลการทั้งปวงแก่มนุษย์อยู่ก่อนแล้ว จึงเกิดความไม่พอใจลงมาท้าธรรมบาลกุมารให้ตอบปริศนาสามข้อ โดยมีข้อแม้ว่าหากธรรมบาลกุมารตอบได้ให้ตัดศีรษะท้าวกบิลพรหมเสีย แต่หากตอบไม่ได้ธรรมบาลกุมารก็จะโดนตัดศีรษะเช่นกัน โดยปริศนาดังกล่าวมีอยู่ว่า

          ข้อที่ ๑ เช้า ราศีอยู่ที่ใด

          ข้อที่ ๒ เที่ยง ราศีอยู่ที่ใด

          และ ข้อที่ ๓ ค่ำ ราศีอยู่ที่ใด

ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ทำให้ธรรมบาลกุมารขอผลัดกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา ๗ วัน ธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบตลอดระยะเวลา ๖ วัน ปรากฏว่าเวลาล่วงถึงวันที่ ๖ ก็ยังคิดหาคำตอบไม่ได้ จึงคิดจะหลบหนี จากนั้นก็ออกไปนอกปราสาท ระหว่างทางได้พักนอนอยู่ใต้ต้นตาล และคิดในใจว่าขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม

ขณะนั้นได้ยินเสียงนกอินทรีสองผัวเมียเกาะทำรังอยู่ และได้ยินนกอินทรีคุยกัน โดยที่นางนกอินทรีถามสามีว่าพรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่าเราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร เพราะตอบปริศนาไม่ได้ เป็นเหตุให้ท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย แล้วนางนกอินทรีคำตอบคืออะไรเพราะนางนกอินทรีก็ไม่รู้คำตอบเหมือนกัน ฝ่ายสามีนกอินทรีเฉลยว่า

ข้อที่ ๑ ตอนเช้า ราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้าทุก ๆ เช้า

ข้อที่ ๒ ตอนเที่ยง ราศีอยู่ที่อก มนุษย์จึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก

ข้อที่ ๓ ตอนค่ำ ราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างเท้าก่อนเข้านอน

ธรรมบาลกุมารได้ยินและสามารถเรียนรู้ภาษานกและเรียนไตรเพทได้เป็นอย่างดี จึงสามารถตอบปริศนาได้ เมื่อครบ ๗ วัน ท้าวกบิลพรหมมาตามสัญญา ธรรมบาลกุมารจึงตอบคำถามกับท้าวกบิลพรหมและสามารถตอบคำถามได้ ทำให้ท้าวกบิลพรหม จึงต้องตัดศีรษะ บูชาธรรมบาลกุมาร แต่ก่อนจะตัดศีรษะ ท้าวกบิลพรหมตรัสเรียกธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบาทบาจาริกา (แปลว่านางบำเรอแทบเท้าหรือสนม) ของพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน

ท้าวกบิลพรหมบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร หากตั้งไว้ในแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก หากทิ้งในอากาศฝนก็จะแล้ง หรือถ้าหากทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง  ดังนั้นจึงขอให้ธิดาทั้ง ๗ นำพานมารองรับแล้วก็ตัดเศียรนี้ไว้ให้นางทุงษะเทวี ผู้เป็นธิดาองค์โต แล้วให้บรรดาเทพบริวารแห่ประทักษิณโดยรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลี ณ เขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน หรือพอเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะต่างๆ พร้อมด้วยเทพบริวาร ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกระบิลพรหมออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกๆ ปี  โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์ เป็นประจำ จึงชื่อว่า นางสงกรานต์

จากความเป็นมาดังกล่าวในสมัยโบราณ อาจเป็นเพียงอุบายอย่างหนึ่ง เพื่อให้คนที่ไม่รู้หนังสือหรือวันเดือนปี จะได้รับรู้โดยทั่วกันว่าวันไหน คือวันมหาสงกรานต์ หรือวันไหนที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ แม้กระทั่งในวันขึ้นปีใหม่ ตามสุริยคติตรงกับวันใด ผ่านนางสงกรานต์ทั้ง ๗ นาง ตรงกับวันใด เวลาใด ทั้งนี้นางสงกรานต์ก็จะมีนาม เครื่องประดับ อาหาร อาวุธ และพาหนะที่เป็นสัตว์ประจำของตนเองในแต่ละอย่างนั่นเอง...

เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

แหล่งอ้างอิง :

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.  ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๘.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๘,
         จาก
: https://www.facebook.com/photo/?fbid=979209954308839&set=a.430531609176679&locale=th_TH, ๒๕๖๘.

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.  ประเพณีสงกรานต์.  กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๖๔.

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.  สงกรานต์...สืบสานประเพณีไทย สุขใจ...ไทยทั่วหล้า.  กรุงเทพฯ: กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๘.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).  จารึกเรื่องมหาสงกรานต์.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๘, จาก: https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/search

(จำนวนผู้เข้าชม 22 ครั้ง)