ในปัจจุบันทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ สายสวรรคโลก–อุโมงค์ มีแนวเส้นทางเริ่มจากอำเภอสวรรคโลก อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอป่าซาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดเมืองลำพูน และอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ถนนในช่วงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษ คือ มีการปลูกต้นยางนาในพื้นที่เส้นทางจังหวัดเชียงใหม่ และมีต้นขี้เหล็กในพื้นที่เส้นทางจังหวัดลำพูน ปลูกเรียงรายตลอดสองข้างทาง ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกถนนเส้นทางนี้ว่า “ถนนต้นยางนา-ต้นขี้เหล็ก”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประเทศสยามได้มีการจัดการปกครองส่วนภูมิภาคจากเมืองประเทศราช มาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง และให้ทางส่วนกลางขึ้นมาปกครองเมืองเชียงใหม่ แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง “เจ้าหลวง” เอาไว้เป็นประมุขของเมืองเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก ขึ้นมารับราชการตำแหน่ง ข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกของมณฑลพายัพ หรือข้าหลวงใหญ่ ซึ่งเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ได้ทำการปฏิรูปการปกครอง การศึกษา การแพทย์ และการคมนาคม จนทำให้มณฑลพายัพเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นอย่างมาก
เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) โดยคำนึงถึงหลัก “น้ำต้อง กองต๋ำ” ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา หมายถึง การนำนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำต่างๆ รวมถึงการตัดถนน การปรับปรุงถนน เพื่อให้ความเกิดความร่มรื่นแก่ชาวบ้านผู้ใช้เส้นทางสัญจร ประกอบกับการได้รับสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงได้แนวพระราชดำริจากสภาพภูมิทัศน์ของถนนในต่างประเทศที่มีความร่มรื่นจากพรรณไม้ชนิดต่างๆ ทั้งนี้ได้มีการกำหนดให้เส้นทางแต่ละสายปลูกต้นไม้ชนิดแตกต่างกันดังนี้ ถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ทดลองปลูกต้นไม้เมืองหนาว ถนนรอบคูเมือง ให้ปลูกต้นสัก และต้นสน ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ให้ปลูกต้นประดู่ ถนนสายเชียงใหม่-หางดง-สันป่าตอง ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นยาง และเมื่อเข้าเขตลำพูน ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก
สำหรับอนุสาวรีย์เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ตั้งอยู่ในตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เรือนทำมาจากไม้สักทองทรงปั้นหยา ตัวอาคารเป็นบ้านไม้ทรงตึกยกพื้นสูง สถาปัตยกรรมโคโลเนียลประยุกต์กับพื้นเมืองอายุกว่าร้อยปี ภายในบริเวณบ้านมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ เอกสารสำคัญที่บันทึกเรื่องราวการบริหารราชการแผ่นดิน เหรียญตราประดับยศของท่านเจ้าคุณเชย เฟอร์นิเจอร์ ประติมากรรม ข้าวของเครื่องใช้ และภาพถ่ายในยุคสมัยโบราณ เป็นต้น
หลังจากนั้นได้มีการแบ่งเขตแดนและทำการปลูกต้นไม้เรียงรายตามสองฝั่งถนน ระหว่างเขตแดนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ปลูกต้นยางนา ส่วนเขตแดนจังหวัดลำพูน ได้ปลูกต้นขี้เหล็ก ถ้าหากผู้สัญจรใช้เส้นทางนี้เข้าเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จะได้พบกับต้นยานาขนาดใหญ่ ขนาดวงรอบโดยเฉลี่ย ๕ เมตร และสูงกว่า ๔๐ เมตร ยืนเรียงรายตลอดแนวทั้งสองแนวของฝากฝั่งถนน ต่อมามีการกำหนดกฎระเบียบในการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด เช่น ถ้าต้นไม้ตรงกับหน้าบ้านใด ก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบ และให้ชาวบ้านรับผิดชอบดูแลรดน้ำ พรวนดินดายหญ้า ใส่ปุ๋ยให้กับต้นยาง และห้ามเลี้ยงสัตว์บนเขตถนน รวมถึงที่ทำการของราชการ เพื่อกันวัวควายเข้ามาเหยียบย่ำ หากสัตว์เลี้ยงของผู้ใดเข้ามาเหยียบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้เสียหายจะต้องเสียค่าปรับ หรือถ้าหากต้นยางนาที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใดจะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบ โดยให้หัวหน้าหมู่บ้านนำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษาทำให้ต้นยางนาเจริญเติบโตและสวยงามนอกจากนี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีการเกณฑ์ชาวบ้านที่มีความยากจนหรือไม่มีเงินเสียภาษีให้ทางรัฐหรือชาวบ้านที่ไม่ต้องการเป็นทหารให้มาปลูกต้นยางนา ตั้งแต่บ้านหนองหอยจนถึงหลักแดนเมืองเชียงใหม่ - ลำพูน โดยชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบดูแลรดน้ำต้นยางหรือถ้าหากพบว่าต้นยางนาที่ตนรับผิดชอบต้นไหนตายจะต้องนำต้นยางนามาปลูกใหม่ทดแทน
ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์และเป็นสัญลักษณ์ของถนนเส้นทางนี้ที่มีต้นยางนาขนาดใหญ่ มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ปลูกเรียงรายตลอดทั้งสองข้างทางที่คดเคี้ยวไปมาที่มีความร่มรื่นและสวยงาม เป็นอย่างมากอีกเส้นทางหนึ่งของเมืองไทย
สำหรับศาลหลักเมือง (ศาลเจ้าแดนเมือง) เชียงใหม่-ลำพูน ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ ๕ บ้านปากกอง ตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และหมู่ที่ ๑ บ้านอุโมงค์ ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เดิมเป็นที่ตั้งของวัดร้าง ชื่อว่า วัดนางเหลียว นอกจากเสาหลักเมืองเชียงใหม่-ลำพูนแล้ว ในปัจจุบันหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน ได้ร่วมกันบูรณะ ซ่อมแซม ตกแต่งภูมิทัศน์ พร้อมมีการสร้างศาลาสามัคคี พร้อมอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน คือพระศรีสองเมือง เพื่อเป็นสถานที่สำคัญเป็นที่เคารพ สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันศุกร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ชาวเชียงใหม่ได้มีโอกาสรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระราชดำเนินมาบนถนนต้นยางนา และทรงแวะพักที่บริเวณต้นยางนา หมายเลข ๑ ซึ่งเป็นต้นยางนาต้นแรกและเป็นสัญลักษณ์หรือหมุดหมายที่บอกจุดสิ้นสุดของจังหวัดลำพูน และจุดเริ่มต้นของจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันต้นยางนาประวัติศาสตร์ต้นนั้นยังคงอยู่บริเวณตรงข้ามศาลหลักเมือง (ศาลเจ้าแดนเมือง) เชียงใหม่-ลำพูน
ถนนสายประวัติศาสตร์ “ถนนต้นยางนา-ต้นขี้เหล็ก” นอกจากมีภูมิทัศน์ที่สวยงามแล้ว และยังเป็นหนึ่งในเส้นทางที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยี่ยมชม อีกทั้งยังเป็นแหล่งพันธุกรรมไม้ยางนาหรือใช้ในการขยายพันธุ์เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยอีกด้วย
กลุ่มต้นยางนารักษ์สิ่งแวดล้อม เชียงใหม่ ยังได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีคุณค่าและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ซึ่งภายในหนังสือได้รวบรวมข้อมูลต้นไม้ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จำนวน ๖๕ ต้น
เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
แหล่งอ้างอิง :
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. สมุดภาพกรมการปกครอง. กรุงเทพฯ: กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ๒๕๖๔.
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๖๐.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. การเสด็จตรวจราชการหัวเมือง ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.
กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ, ๒๕๕๕.
พิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง. ถนนสายประวัติศาสตร์ “ถนนต้นยางนา” ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๘,
จาก: https://dohmuseum.wixsite.com/dohmuseum01/single-post/2020/04/09/ถนนสายประว-ต-ศาสตร-ถนนต-นยางนา-ทางหลวงแผ-นด-นหมายเลข-106
แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์บ้านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๘,
จาก: https://www.facebook.com/p/แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์บ้านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์-100066931397986/
โอร์ต, ปิแอร์. ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. แปลโดย พิษณุ จันทร์วิทัน. กรุงเทพฯ: การันต์, ๒๕๓๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 73 ครั้ง)