ตามตำนานหากจะกล่าวถึงแม่กาเผือกหรือพญากาเผือก อาศัยทำรังอยู่บนต้นมะเดื่อบริเวณฝั่งแม่น้ำคงคา พร้อมกับฟักไข่จำนวน ๕ ฟอง ซึ่งตรงกับวันพระ อยู่มาวันหนึ่งแม่กาเผือกออกหาอาหารและบินหลงเข้ามาพบป่าอุดมสมบูรณ์ ทันใดนั้นได้เกิดพายุพัดฝนฟ้าคะนองกระหน่ำอย่างหนักทำให้ต้องพักอาศัยจนกว่าพายุสงบ ซึ่งแรงลมของพายุทำให้กิ่งมะเดื่อรังที่ฟักไข่ของแม่กาเผือกหักจนทำให้พัดพาเอาไข่ทั้งหมดไหลลงไปตามน้ำพัดพาไปคนละทิศคนละทาง ทางด้านแม่กาเผือกกลับมาที่รังไม่พบไข่ของตนเอง จึงออกตามหาไข่ทั่วทุกหนทุกแห่งกลับไม่พบ จึงคิดว่าลูกน้อยของตนเองได้จากแม่กาเผือกไปแล้ว จึงเกิดความโศกเศร้าเสียใจและตรอมใจตายลงไปในที่สุดด้วยอานิสงส์ในความรักอันบริสุทธิ์ที่มีต่อลูกๆ ของตนเอง แม่กาเผือกจึงไปจุติอยู่บนแดนพรหมโลกชั้นสุทธาวาส นามว่า “ฆติกามหาพรหม”
หลังจากนั้นไข่ทั้ง ๕ ฟอง ได้มีผู้พบเจอและนำไปเลี้ยงจนเติบโต กล่าวคือ ฟองที่ ๑ มีแม่ไก่เก็บไปเลี้ยง ฟองที่ ๒ มีแม่นาค (หรืองู) เก็บไปเลี้ยง ฟองที่ ๓ มีแม่เต่าเก็บไปเลี้ยง ฟองที่ ๔ มีแม่โคเก็บไปเลี้ยง และฟองที่ ๕ แม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง ไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์ผู้ชาย และมีความมุ่งมั่นว่าอยากออกบวชโดยทางฝ่ายแม่บุญธรรมทั้งหมดก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด จึงออกบำเพ็ญศีลภาวนาเป็นฤๅษีอยู่ตามป่าตามถิ่นฐานของตนเอง จากนั้นจึงออกเดินทางแสวงบุญจนมาพบกันที่ใต้ต้นนิโครธโดยบังเอิญ ซึ่งฤๅษีทั้งหมดต่างแปลกใจมีหน้าตาที่คล้ายกัน พร้อมสอบถามถึงประวัติความเป็นมาซึ่งกันและกัน
หลังจากทราบประวัติว่าเป็นลูกของแม่กาเผือกที่ผลัดหลงกันตั้งแต่ยังไม่ทันเกิดทำให้ฤๅษีหนุ่มทั้งห้าตัดสินใจตั้งสัจจาธิษฐานขอพบแม่กาเผือกจริงอีกครั้ง ซึ่งท้าวฆติกามหาพรหม รับรู้ด้วยญาณและจำแลงร่างเป็นแม่กาเผือก พร้อมกับเล่าประวัติความเป็นมาให้กับฤๅษีได้ฟังทั้งหมดทางฝั่งฤๅษีขอให้แม่กาเผือกยื่นเท้ามาให้พวกเขากราบไหว้เพื่อระลึกถึงบุญคุณ แล้วทางแม่กาเผือกจึงได้ประทานผ้าฝ้ายฟั่นเชือกเป็นรูปตีนกามีสามแฉกเป็นสัญลักษณ์อนุสรณ์ ฝ่ายฤๅษี จึงนำมาทำเป็นไส้ประทีปตีนกาและจุดบูชาทุกวันพระ เพื่อระลึกถึงพระคุณแม่กาเผือกอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับอธิษฐานปรารถนาสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์นี้ ภายหลังจึงเป็นประเพณีจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือกในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันลอยกระทง และเป็นส่วนหนึ่งของประเพณียี่เป็งที่สืบทอดต่อๆ กันมา
เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
แหล่งอ้างอิง :
ธนากิต. ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, ๒๕๔๕.
เว็บพลังจิต. เปิดตำนาน"ลอยประทีปบูชาพญากาเผือก"ของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ตำนานสืบสานประเพณีลอยกระทง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖,
จาก https://palungjit.org/threads/เปิดตำนาน-ลอยประทีปบูชาพญากาเผือก-ของพระพุทธเจ้า-๕-พระองค์-ตำนานสืบสานประเพณีลอยกระทง.626602/, ๒๕๖๐.
เสฐียร โกเศศ. ผีสางเทวดา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, ๒๕๔๙.
โฮงเฮียนฝ้ายหลวง. การทำตีนกา ผางประทีป ไส้เทียน ฝ้ายตีนกา จากเส้นฝ้าย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖,
จาก https://www.youtube.com/watch?v=b4aWgNjYHvg, ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 790 ครั้ง)