คันหลาว
คันหลาว
คันหลาวหรือคานหลาว คือ ไม้หาบข้าว ใช้สำหรับหาบฟ่อนข้าว ลักษณะเป็นไม้ยาวแบนคล้ายไม้คาน ทำด้วยไม้ไผ่หรืออาจเป็นไม้จริงก็ได้ มีปลายแหลมทั้งสองข้าง ใกล้กับส่วนปลายทั้งสองข้างทำเป็นปุ่มนูนหรือปล้องข้อไว้ ที่มาของชื่อ “คันหลาว” น่าจะมาจากรูปร่างลักษณะของไม้คานที่มีปลายแหลมคล้ายหลาว
ภายหลังที่ชาวนาเกี่ยวข้าวแล้วมัดฟ่อนข้าวรวมกัน ชาวนาจะใช้ปลายคันหลาวแต่ละข้างแทงเสียบเข้าไปในฟ่อนข้าวนั้น ฟ่อนข้าวจะไม่หลุดจากคันหลาวเพราะมีปุ่มนูนอยู่ที่ปลายคานทั้งสองคั่นไว้ ชาวนาใช้คันหลาวหาบฟ่อนข้าวจากที่นาไปยังลานนวดข้าว หรืออาจใช้คันหลาวนี้หาบฟ่อนหญ้าที่เกี่ยวแล้วไปให้วัวควายกิน
คันหลาวเป็นเครื่องมือพื้นบ้านที่ช่วยในการขนย้ายฟ่อนข้าวไปกองไว้รวมกันที่ลานนวดข้าวเพื่อเตรียมแยกเมล็ดออกจากรวง การขนย้ายด้วยอุปกรณ์ชนิดนี้ทำให้ขนย้ายฟ่อนข้าวได้เป็นจำนวนมากต่อเที่ยวหนึ่ง แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวนาไทยในอดีต ปัจจุบันแทบจะไม่มีผู้ใช้คันหลาวหอบฟ่อนข้าวแบบนี้อีกแล้ว เนื่องจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร มีรถเกี่ยวข้าวและเครื่องนวดข้าวได้เข้ามาแทนที่เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม
อ้างอิง
- วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, พจนานุกรมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้าน (กรุงเทพฯ : บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, 2532), หน้า 159.
(จำนวนผู้เข้าชม 776 ครั้ง)