...

มหามกุฏราชสันตติวงศ์สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

   มหามกุฏราชสันตติวงศ์สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

   พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

   สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระนามเดิม เปี่ยม ประสูติเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๓๘๐ (นับแบบปัจจุบันตรงกับปีพุทธศักราช ๒๓๘๑) เป็นธิดา   หลวงอาสาสำแดง (แตง) และท้าวสุจริตธำรง (นาค) เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระชนนีในพระราชโอรส พระราชธิดา จำนวน ๖ พระองค์ คือ

   - พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

   - พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์

   - พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

   - พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา

   - พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

   - พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

   ในรัชกาลที่ ๕ พระราชธิดาสามพระองค์ในรัชกาลก่อนที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้ถวายตัวเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๒๘ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี ถวายพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เนื่องด้วยในรัชกาลนั้นมีพระฐานะเป็นพระอัยยิกา (ยาย) โดยพระนาม "ปิยมาวดี" นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากพระนามเดิมว่า "เปี่ยม" เป็นคำว่า "ปิยมาวดี" ส่วนสร้อยพระนาม "ศรีพัชรินทรมาตา" มาจากพระนามของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับคำว่ามาตา แปลว่าแม่ รวมกันมีความหมายว่า "พระราชชนนีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"

สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ถึงแก่พิราลัยในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๔๗ สิริอายุ ๖๖ ปี

 

เรียบเรียง : ณัฐพล ชัยมั่น ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี กรมศิลปากร

อ้างอิงภาพ : สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงฉลองพระองค์ชุดอย่างตะวันตก ตามแนวแฟชั่นยุควิกตอเรีย เมื่อสมัยแรกรับราชการ

อ้างอิง

ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๔๐ตอน ๐ ก๑ เมษายน ๒๔๖๖หน้า ๑. พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา เรื่อง สถาปนาพระนามพระอัฐิ พระอัยยิกา.[ออนไลน์]สืบค้นเมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/A/1.PDF

ศิลปากร, กรม. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, ๒๕๕๔.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 2711 ครั้ง)


Messenger